ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 13, 2017 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 12 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6) และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (7) ถึง (9)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

(ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

(7) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

(8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและ ปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี

(9) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปีทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้าตามคำสั่งซื้อ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,289 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,365 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,313 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 29,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ ละ 30,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 876 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,806 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 393 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,923 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,463 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,745 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.8837 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-จีน

ไทยจับมืออาลีบาบาขายข้าวหอมมะลิ ผ่านช่องทางออนไลน์เชื่อมโยงชาวนาไทยแปลงใหญ่ ส่งตรงผู้บริโภคชาวจีน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมงาน “TMALL 11.11 Thai Hom Mali Rice Promotion” ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าร่วมงานประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทย (11.11 Shopping Festival) ที่จัดขึ้นโดย Alibaba Group ที่มีเป้าหมายในการสร้างความรับรู้ถึงความพิเศษของข้าวหอมมะลิไทย ที่ผลิตจากกลุ่มชาวนาแปลงใหญ่ของไทย ขายผ่านช่องทางชอปปิงออนไลน์ให้กับทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลก

โดยมหกรรม 11.11 เป็นเทศกาลชอปปิงระดับโลกที่มีร้านค้าเข้าร่วมรายการเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเสนอสินค้าที่คัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพในการขายเพิ่มขึ้นให้กับผู้ซื้อจำนวนนับล้านที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะใช้ช่องทางดังกล่าวแนะนำให้ชาวจีนได้รู้จักข้าวหอมมะลิเป็นการเชื่อมโยงจากชาวนาไทยไปยังผู้บริโภคชาวจีนให้มากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่รู้จักเฉพาะในเขตเมืองเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลของจีน แต่หลังจากขายผ่านระบบช่องทางการค้าออนไลน์ของอาลีบาบากรุ๊ป ซึ่งได้รับความนิยมสูง ข้าวหอมมะลิจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และยังกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศจีน อาลีบาบาจึงเปรียบเสมือนสะพานระหว่าง 2 ประเทศ เชื่อมโยงชาวนาไทยให้สามารถส่งออกข้าวหอมมะลิส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งยังช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น

“ข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยม เพราะชื่อเสียงและคุณสมบัติพิเศษที่มีความหอมและนุ่ม ถูกปากผู้บริโภคชาวจีน แต่ปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องการปลอมปน ทำให้ชาวจีนไม่สนใจว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิแท้หรือไม่ จึงต้องการที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิไทย ตั้งแต่การปลูกจนถึงการส่งออกมาประเทศจีน และวิธีการสังเกตว่าของแท้ที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งออกของกระทรวงพาณิชย์กับข้าวหอมมะลิทั่วไปที่อาจมีการปลอมปนข้าวประเภทอื่นที่ไปบรรจุในประเทศจีน”

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารอาลีบาบา ได้ร่วมกันเปิดตัวการสั่งจองข้าวหอมมะลิไทยออนไลน์ล่วงหน้า ซึ่งหลังจากการเปิดให้จอง ปรากฏว่ายอดขายข้าวหอมมะลิของไทยได้รับความสนใจ โดยยอดสั่งจองเป็นอันดับ 2 ของสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และได้หารือการเชื่อมโยงตลาดข้าวหอมมะลิไทยจากชาวนาสู่อาลีบาบา เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ชาวนาหรือผู้ประกอบการได้มีช่องทางในการขายข้าวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ไทย-ฮ่องกง

“แคร์รี แลม” ผู้บริหารฮ่องกงประกาศตั้งสำนักงานเศรษฐกิจแห่งที่ 3 ในอาเซียนที่ไทย หลังจากตั้งที่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาสถานที่ตั้งในกรุงเทพฯ โดยสำนักงานแห่งนี้จะทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐและเอกชน ดูแลภาพรวมด้านการค้าการลงทุนในไทย

การส่งออกตลาดฮ่องกง ปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ติดลบร้อยละ 3.1 ทั้งนี้จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 เท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะค้าปลีกดีขึ้นหลังจากซบเซามา 3 ปี รวมถึงผลดีจากการเลือกตั้งและนโยบายรวม 3 เมืองใหญ่ คือ จูไห่ ฮ่องกง มาเก๊า เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง ทำให้มีคนเข้าออกฮ่องกงมากขึ้น 6-7 ล้านคน ซึ่งส่งผลดีต่อการค้า

นอกจากนี้คณะผู้นำเข้า 40 ราย จากสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง และสมาคมผู้ค้าข้าวฮ่องกง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 80-90 ของการนำเข้าทั้งหมด และผู้นำเข้ารายใหม่ 12 ราย เดินทางมาร่วมสำรวจแหล่งผลิตร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อซื้อข้าวหอมมะลิปริมาณ 14,000 ตัน และจับคู่เจรจาธุรกิจกับสมาชิกสมาคมส่งออกข้าวไทย คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-กันยายน) ไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง 155,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 130,000 ตัน แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่มากนัก เพราะช่วงต้นปี 2560 ราคาลดลงอยู่ที่ตันละ 660 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ราคาปรับขึ้นมาที่ตันละ 800-820 ดอลลาร์สหรัฐฯ

“เมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกง ลดลงจากร้อยละ 85-90 เหลือร้อยละ 40 เพราะข้าวไทยราคาสูงอยู่ตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้นำเข้าหันไปซื้อจากเวียดนามที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำนักงานฯ ได้จัดโครงการส่งเสริมความมั่นใจ มีการมอบรางวัลให้ผู้นำเข้าที่มีความสัมพันธ์กับไทยเกิน 40 ปี และได้จัดคณะผู้นำเข้ามาเยี่ยมชมการผลิตข้าวและการแปรรูป โดยปีแรกสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 48 ขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ 56 และร้อยละ 69 ในปีนี้”

พร้อมทั้งส่งเสริมการส่งออกข้าวสีออร์แกนิก ส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวสี 4,000 ตันต่อปี ถือเป็นปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับยอดนำเข้าข้าวสีทั้งหมด 5,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคฮ่องกงยุคใหม่ลดความนิยมในการบริโภคข้าว หันไปบริโภคขนมปัง จึงได้พัฒนานำข้าวไปแปรรูปเป็นขนมปัง กลูเตนฟรี และได้จัดกิจกรรมนำเยาวชนฮ่องกงเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตการบริโภคข้าวไทยด้วย

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6 - 12 พ.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ