ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 28, 2017 15:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 12 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6) และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (7) ถึง (9)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

(7) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

(8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและ ปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี

(9) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี ต่างประเทศจึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงนี้ ผู้ประกอบการต้องการข้าวเพื่อแปรรูปเป็นข้าวนึ่งทยอยส่งมอบตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบังคลาเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,968 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,771 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.73

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,461 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,083 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.68

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 29,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,790 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.97

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 932 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,264 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 924 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,321 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 57 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,314 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,929 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.06 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 385 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,729 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,437 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 292 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,703 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,323 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.94 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 380 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4720 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2560/61 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่าจะมีผลผลิต 481.195 ล้านตันข้าวสาร (717.9 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 486.565 ล้านตันข้าวสาร (725.7 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 1.10 จากปี 2559/60

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2560/61 ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 ว่าผลผลิต ปี 2560/61 จะมี 481.195 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2559/60 ร้อยละ 1.10 การใช้ในประเทศจะมี 480.363 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.15 การส่งออก/นำเข้าจะมี 45.102 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.34 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 138.939 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.60

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย กายานา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ กัมพูชา อียู รัสเซีย อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กานา อิรัก ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ เบนิน บราซิล อิหร่าน เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกข้าวแล้ว 9.22 ล้านตัน นับเป็นปริมาณการส่งออกที่มากที่สุดในโลก รองลงมาคือ อินเดีย โดยคาดว่าไตรมาส 4 ของปีนี้ ปริมาณและราคาส่งออกจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีเอกชนยื่นขออนุญาตส่งออกแล้ว 11 ล้านตัน จึงน่าจะสามารถส่งออกได้จริงเกินเป้าหมาย 10.8 ล้านตัน เกินกว่าเป้าหมายการส่งออกที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ไว้ในปี 2560 ที่ปริมาณ 10 ล้านตัน

แนวโน้มการส่งออกในตลาดโลกปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วทุกรายการ ยกเว้นข้าวเหนียว โดยข้าวหอมมะลิไทยจากราคาเฉลี่ยต่อปี 715 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มเป็น 953 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สูงกว่าข้าวหอมมะลิเวียดนามซึ่งมีราคาเพียง 950 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มข้าวไทยส่งออกดีขึ้น เนื่องจากได้ส่วนแบ่งตลาดข้าวกลับคืนมา โดยเฉพาะฮ่องกงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70-80 จากเดิมร้อยละ 40 อีกทั้งมีสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาอีกประมาณ 5.8 แสนตัน ทั้งกับประเทศจีน (ข้าวขาว 100%) ประมาณ 1 แสนตัน บังคลาเทศ (ข้าวนึ่ง 5%) ประมาณ 1.5 แสนตัน และญี่ปุ่น (ข้าวอุตสาหกรรม) 2.5 หมื่นตัน นอกจากนี้ยังมี MOU ระหว่างเอกชนไทยกับฟิลิปปินส์ และฮ่องกง (ข้าวหอมมะลิ) ประมาณ 8 หมื่นตัน

ขณะนี้ เริ่มต้นดำเนินโครงการเชื่อมโยงข้าวสีร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ส่งเสริมการส่งออกข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ หอมมะลิแดง หอมนิล และไรซ์เบอรี่ ใน 4 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทดลองดำเนินการแล้ว 1,371 ตัน ตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่มีราคาสูง อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากข้าวมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก อาทิ อาหารเสริมจากน้ำมันรำข้าว ขนมปังจากข้าวไรซ์เบอรี่ วัสดุปิดแผล สบู่ล้างหน้า แชมพูข้าวหอมนิล คาดว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้ายอดขายจะสูงถึง 100 ล้านบาท

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางภาวะที่อุปทานข้าวในประเทศลดลงหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn crop) สิ้นสุดลง ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ลดลงด้วย โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 400-405 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน วงการค้าคาดว่าผลผลิตข้าวฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดปริมาณมากในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) อย่างไรก็ตามคาดว่าการเพาะปลูกข้าวฤดูนี้อาจจะล่าช้าออกไปเป็นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนักเพราะอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ และยังมีน้ำท่วมขังปริมาณมาก

สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association) ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้เป็น 5.6 ล้านตัน หลังจากที่มีการสัญญาขายข้าวเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้เวียดนามจะเริ่มทำสัญญาขายข้าวตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า โดยคาดว่าในปีบังคลาเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวจากเวียดนามนี้ประมาณ 500,000 ตัน ส่วนในปีหน้าคาดว่าฟิลิปปินส์จะมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น

ทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 5.3 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศจีนที่ร้อยละ 40 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ร้อยละ 10 และมาเลเซียร้อยละ 9

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (Commerce Minister) ได้แถลงในรัฐสภาว่า ขณะนี้ตลาดการค้าข้าวในประเทศอยู่ในภาวะปกติแล้ว แม้ว่าภาวะราคาข้าวจะยังคงผันผวนบ้าง โดยขณะนี้ข้าวเกรดธรรมดา (the coarse rice) ในตลาดราคาอยู่ที่ประมาณ 40 ทากาต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวเกรดดี (the fine varieties) ราคาอยู่ที่ประมาณ 65 ทากาต่อกิโลกรัม หลังจากในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละ 2 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ พร้อมได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อควบคุมภาวะราคาข้าวในประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวถัดไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรในประเทศได้รับความเดือนร้อน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการบริหารจัดการปัญหาดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบราคาเพื่อดูแลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังได้จัดตั้งคณะกรรมการแข่งขันในตลาดเพื่อตรวจสอบและถอดถอนการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมด้วย ปัจจุบันบังคลาเทศมีสต็อกข้าวคงเหลือประมาณ 577,000 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 พ.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ