ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 4, 2017 15:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 12 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6) และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (7) ถึง (9)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

(ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

(7) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและ ปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี (ธ.ก.ส.)

(9) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,132 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,968 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,255 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,461 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.43

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 29,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,790 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,001 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,422 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 932 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,264 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.40 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2,158 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,345 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,314 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,762 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,729 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 33 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,669 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3901 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมาร์

นาย U Nay Lin Zin เลขาธิการสหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation; MRF) ระบุว่า จากที่ประเทศจีนมีความต้องการนำเข้าข้าวเปลือกจากเมียนมาร์ เพราะราคาถูกกว่าราคาในประเทศจีน ทำให้ผู้ค้าข้าวของจีนเข้ามารับซื้อจากเมียนมาร์ในราคาถูก และเกิดการลักลอบส่งออกข้าวเปลือกไปยังประเทศจีนผ่านทางแนวชายแดนนั้น การกระทำดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อเมียนมาร์เป็นอย่างมาก และตามปกติแล้วทางการจีนจะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวเปลือกจากต่างประเทศ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรเมียนมาร์กำลังเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากไม่รีบดำเนินการอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเมียนมาร์ในระยะยาว ซึ่งผลผลิตข้าวฤดูใหม่ใกล้จะออกสู่ตลาดแล้ว

กระทรวงพาณิชย์ (the Commerce Ministry) รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2560/61 (เมษายน-มีนาคม) ณ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมียนมาร์ส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 1.9 ล้านตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิหร่าน

รัฐบาลอิหร่านได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าข้าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ไปจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยในปีงบประมาณนี้ นับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม – 22 กันยายน 2560 อิหร่านนำเข้าข้าวประมาณ 1.05 ล้านตัน มูลค่า 996 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 84 และร้อยละ 108 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อินเดีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และอิรัก

ทั้งนี้ คาดว่าเวียดนามจะเริ่มส่งมอบข้าวล็อตแรก 100,000 ตัน ให้แก่ประเทศอิหร่านที่ได้ทำสัญญาไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้เมื่อเดือนที่แล้วหน่วยงาน GTC ได้เปิดประมูลซื้อข้าวจากอินเดีย 30,000 ตัน แบ่งเป็น 3 ล็อต กำหนดส่งมอบช่วงต้นปีหน้า โดยปิดรับข้อเสนอวันที่ 12 ธันวาคม 2560

ในทุกๆ ปี อิหร่านจะห้ามนำเข้าข้าวจนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในประเทศ และรัฐบาลมักจะออกมาตรการห้ามนำเข้าข้าวในช่วงเวลานี้ของทุกปี เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ ซึ่งผู้ค้าข้าวที่ได้ตกลงซื้อขายและขออนุญาตนำเข้าในช่วงเวลานี้จะต้องรอไปจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาห้ามนำเข้าข้าวจึงจะเริ่มนำเข้าได้อีกครั้ง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เม็กซิโก

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเม็กซิโกเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา และ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ไปยังเม็กซิโก ซึ่งเม็กซิโกนำเข้าข้าวประมาณร้อยละ 82.6 ของความต้องการ บริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้เม็กซิโกถือเป็นตลาดค้าข้าวรายใหญ่ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการบริโภคข้าวในประเทศ คือ การที่ประชากรเพิ่มขึ้นและราคาข้าวอยู่ในระดับที่สามารถซื้อหาได้

แม้ว่าเม็กซิโกมีการบริโภคข้าวต่อหัวค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 7.3 กิโลกรัมต่อปี) แต่ความต้องการบริโภคยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเภทข้าวที่เม็กซิโกนำเข้ามากที่สุด คือ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง (Husked) ข้าวขาว และข้าวเมล็ดยาว สำหรับข้าวเปลือกเม็กซิโกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ส่วนข้าวที่สีแล้วหรือข้าวขาวจะนำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากอุรุกวัยที่เม็กซิโกมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533) เนื่องจากการยกเลิกภาษีนำเข้าจากข้อตกลง NAFTA แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถานการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ แม้สหรัฐอเมริกายังคงเป็น แหล่งนำเข้าหลักสำหรับข้าวขาว แต่ในปี 2554 ประเทศคู่แข่งอื่นๆ เริ่มส่งออกไปยังเม็กซิโกมากขึ้น

ในขณะที่ผู้ส่งออกจากเอเชียส่งออกในปริมาณที่ยังไม่มากนัก แต่คู่แข่งจากประเทศแถบอเมริกาใต้มีการส่งออกข้าวไปยังเม็กซิโกมากขึ้น เช่น ในปี 2559 เม็กซิโกนำเข้าจากอุรุกวัยเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ในปี2560 ส่วนข้าวเปลือกสหรัฐอเมริกายังคงเป็นแหล่งนำเข้าเกือบทั้งหมดของเม็กซิโก และกายอานาเริ่มส่งข้าวเปลือกไปยังเม็กซิโกในเดือนกรกฎาคม 2560

ทั้งนี้ จากการเปิดโควตาข้าวของเม็กซิโกจำนวน 150,000 ตัน (ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2560) จึงเป็นความพยายามที่จะกระจายแหล่งนำเข้าซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้ส่งออกข้าวในสหรัฐอเมริกามากขึ้น

การที่เม็กซิโกเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรราว 122 ล้านคน แม้จะสามารถปลูกข้าวได้เองแต่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และความไม่แน่นอนของการเจรจาทบทวนข้อตกลง NAFTA ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญ ทำให้เม็กซิโกมีนโยบายกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าและสร้างพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในเอเชีย ตลอดจนในปี 2561 มีการคาดการณ์ผลผลิตภายในประเทศและการนำเข้าข้าวจำนวน 350,000 และ 755,000 ตัน ตามลำดับ จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในเม็กซิโก

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ