สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2018 13:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 8 - 14 มิ.ย. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
  • โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
  • โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี
  • โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2560

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ บาท 15,844 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,736 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,035 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,176 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.72

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 36,810 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,610 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.71

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,457 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,263 ดอลลาร์สหรัฐฯ (40,063 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 606 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,905 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,147 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 242 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,492 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,671 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 179 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,714 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,830 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 116 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.8199

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 465-475 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555) เพิ่มขึ้นจาก 455-460 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้จะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการผลิตฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน (the spring-summer crop) บางส่วนแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวกำลังจับตาไปที่การทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association; VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวในเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา มีประมาณ 621,000 ตัน มูลค่าประมาณ 309.528 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.92 และร้อยละ 34.16 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมาที่ส่งออก 513,570 ตัน มูลค่า 230.716 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-พฤษภาคม) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 2.526 ล้านตัน มูลค่า 1.238 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.38 และร้อยละ 32.85 เมื่อเทียบกับในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาที่ส่งออก 2.116 ล้านตัน มูลค่า 931.860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2561 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 791,210 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.67 เมื่อเทียบกับจำนวน 708,550 ตัน ในมีนาคมที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.85 เมื่อเทียบกับจำนวน 614,052 ตัน ในเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา

โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนเมษายน 2561 ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 657,125 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 60,205 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 61,139 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 5,879 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 6,862 ตัน ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2561 เวียดนามส่งออกข้าวขาว 5% จำนวน 151,410 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 365 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 194,215 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 1,965 ตัน ปลายข้าวขาว 100% จำนวน 8,544 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 250,707 ตัน ข้าวเหนียว 139,913 ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ จำนวน 44,091 ตัน

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี (มกราคม-เมษายน ) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรของเวียดนามและสมาคมอาหารเวียดนาม (the General Customs Office and the Vietnam Food Association) ว่า เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 2.434 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนส่งออกประมาณร้อยละ 83 ตลาดแอฟริกาประมาณร้อยละ 8 ตลาดอเมริกาประมาณร้อยละ 6 ตลาดออสเตรเลียและตลาดยุโรปตลาดละประมาณร้อยละ 1

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

มาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมเสนอกรอบการทำงานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมข้าวเปลือกและข้าวสารของประเทศ หลังจากที่มีการยกเลิกการผูกขาดในการนำเข้าข้าวของหน่วยงาน Padiberas National Bhd (Bernas)

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังรวบรวมข้อเสนอแนะจากกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (the Agriculture and Agro-based Industry) และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในอนาคต เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรในท้องถิ่น โดยรัฐบาลจะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ระบบที่มีการใช้ในประเทศอื่นที่มีการนำเข้าข้าว เช่น อินโดนีเซียซึ่งประสบความสำเร็จในแนวทางที่เกี่ยวกับการผูกขาดในสินค้าข้าว

ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าทางการมาเลเซียมีแผนที่จะทบทวนนโยบายด้านการนำเข้าข้าวที่ปัจจุบันเป็นระบบผูกขาดโดยมีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลจะศึกษาประเด็นเหล่านี้และพิจารณาว่าควรยกเลิกนโยบายนี้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคาข้าว ในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการนำเข้าข้าวคือ Padiberas Nasional Bhd (Bernas)

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture and Agro-based Industry Minister) กล่าวว่ารัฐบาลไม่มีแผนที่จะปิดหน่วยงาน Padiantas Nasional Berhad (Bernas) แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายลดการผูกขาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศลง

โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะยกเลิกผูกขาดการนำเข้าข้าวของ Bernas โดยจะให้ใบอนุญาตนำเข้ากับบริษัทอื่นๆด้วย ทั้งนี้ จะมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการลดการผูกขาดนำเข้าข้าว แต่จนถึงขณะนี้กระทรวงยังไม่ได้สรุปว่าจะมีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระดับกระทรวงก่อนร่างข้อเสนอ และยื่นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ทางด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bernas ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า ควรมีการรักษารูปแบบการผูกขาดในการนำเข้าข้าวบางส่วนไว้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการยกเลิกมาตรการผูกขาดในการนำเข้าข้าวอาจไม่ช่วยทำให้ราคาข้าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะราคาข้าวในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและการที่ราคาข้าวลดลงจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างรุนแรง

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายรับประกันการซื้อคืนในกรณีของข้าว ซึ่ง Bernas ได้ใช้ผลกำไรจากการนำเข้าข้าวและนำไปอุดหนุนเกษตรกรในท้องถิ่น บทบาทของ Bernas อยู่ในฐานะยามเฝ้าประตูซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการจัดหาและเก็บสต็อกข้าวให้เพียงพอ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

รัฐบาลจีนและอินเดียได้หารือในระดับผู้นำสูงสุดเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือทางด้านการค้าและการแบ่งปันทรัพยากรน้ำ โดยรัฐบาลจีนจะแบ่งปันข้อมูลทางอุทกวิทยา (hydrological data) เกี่ยวกับแม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra river) ในอินเดีย และแก้ไขข้อกำหนดบางประการเกี่ยวกับการส่งออกข้าวชนิดอื่นๆ นอกจาก ข้าว Basmati จากอินเดียไปยังประเทศจีน

ทั้งนี้ อินเดียยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวการณ์ขาดดุลการค้ากับจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และแสวงหาโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังจีน เช่น ข้าว พืชตระกูลน้ำมัน (rapeseed) ถั่วเหลือง และน้ำตาล

ปัจจุบันแม้ว่าข้าวของอินเดียจะสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นๆ ได้ แต่อินเดียไม่สามารถส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติไปยังประเทศจีนได้ เนื่องจากยังไม่มีการลงนามในพิธีสารด้านสุขอนามัยพืชกับจีน ซึ่งหากทั้งสองประเทศสามารถลงนามในประเด็นนี้ได้แล้ว จะทำให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวไปยังจีนได้ถึงปีละ 1 ล้านตัน

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปีนี้ ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจาก ต่างประเทศที่ลดลง และกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลบังคลาเทศจะปรับภาษีนำเข้าข้าวจากอัตราร้อยละ 2 ขึ้นเป็นร้อยละ 28 (เป็นภาษีศุลกากรร้อยละ 25 และภาษีอากรปกติร้อยละ 3) ในปีงบประมาณ 2561/62 เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ หลังจากที่คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต Aman และ Boro จะได้ผลดี ทั้งนี้ ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ 393-397 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลง 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 399-403 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า

ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าอินเดียอาจจะส่งออกลดลงประมาณ 0.5-1 ล้านตัน จากปีที่แล้ว เนื่องจากคาดว่า การส่งออกไปยังประเทศบังคลาเทศจะลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมาอินเดียส่งออกข้าว ประมาณ 12.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 18 เนื่องจากในปีที่แล้วมีการนำเข้าข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา รวมทั้งตลาดในแอฟริกาจำนวนมาก

คาดการณ์ปีงบประมาณ 2561/62 บังคลาเทศจะนำเข้าลดลง เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น หลังจากที่ภาวะราคาข้าวในประทศพุ่งสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา

ปีงบประมาณ 2560 บังคลาเทศถือเป็นตลาดส่งออกของอินเดียทีมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 โดยในช่วง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึง เมษายน 2561 มีการนำเข้าข้าวไปแล้วประมาณ 3.7 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นการนำเข้าสูงที่สุดของบังคลาเทศ นอกจากบังคลาเทศแล้ว อิหร่านและซาอุดิอาระเบียก็เป็นตลาดนำเข้าข้าวบาสมาติรายใหญ่ของ อินเดีย โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7.5 และร้อยละ 7 ตามลำดับ และคาดว่าในปีงบประมาณนี้อิหร่านจะยังคงเป็นตลาดใหญ่ของอินเดีย

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ