สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2018 11:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 พ.ย. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO)ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,244 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,770 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,002 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,141 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,113 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,397 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,116 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,532 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 135 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,113 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,159 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,754 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,799 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 45 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,113 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,159 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.7018

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าจะมีผลผลิต490.698 ล้านตันข้าวสารลดลงจาก 494.314 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.73 จากปี 2560/61

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลกกระทรวงเกษตรสหรัฐฯได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าผลผลิต ปี 2561/62 จะมี 490.698ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2560/61ร้อยละ 0.73การใช้ในประเทศจะมี 488.386 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.21 การส่งออก/นำเข้าจะมี 49.217 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.06 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 163.020 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.44

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา กัมพูชา จีน กายานา ปารากวัย ไทย และสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล ปากีสถานและอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรส และสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ กานา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ไทยและสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 415-420 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาวะการค้าค่อนข้างซบเซา เนื่องจากในช่วงนี้ผู้ส่งออกไม่ค่อยทำสัญญาขายข้าวเพราะราคาข้าวของเวียดนามสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่รายอื่นๆ ประกอบกับอุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวฤดูล่าสุดสิ้นสุดลง โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เวียดนามได้ยื่นเสนอราคาในการประมูลเพื่อซื้อข้าวของรัฐบาลอียิปต์จำนวน 500,000 ตัน ซึ่งเวียดนามเสนอข้าวจำนวน 50,000 ตัน

ตามรายงานของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (the Ministry of Industry and Trade; MOIT) ระบุว่า เวียดนามกำลังพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกข้าว โดยหันมาเน้นการส่งออกข้าวคุณภาพสูงและข้าวหอมมากขึ้น และลดการส่งออกข้าวขาวคุณภาพปานกลางและคุณภาพต่ำลง โดยเมื่อปี 2560 สัดส่วนการส่งออกข้าวขาวคุณภาพต่ำมีประมาณร้อยละ 3.88 ของการส่งออกทั้งหมด ข้าวคุณภาพปานกลางมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.24 ข้าวหอมมีสัดส่วนร้อยละ 29.2 ข้าวขาวคุณภาพสูงมีสัดส่วนร้อยละ 24.3 ข้าวเหนียวมีสัดส่วนร้อยละ 23.5 และข้าวญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 4.4

กระทรวงเกษตร (The Ministry of Agriculture and Rural Development ;MARD) ได้วางเป้าหมายที่จะให้ในท้องถิ่นเพิ่มการเพาะปลูกข้าวหอมและข้าวขาวคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้นในฤดูเพาะปลูกฤดูหนาว (winter-spring crop) ในปีการผลิต 2560/61 อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แนวโน้มปี 2561 นี้ สัดส่วนข้าวขาวคุณภาพต่ำและคุณภาพปานกลางจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีความต้องการข้าวชนิดนี้จากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมากขึ้น โดยในปีนี้ผู้ส่งออกได้ทำสัญญาขายข้าวให้อินโดนีเซียประมาณ 700,000 ตัน ขณะที่ฟิลิปปินส์มีประมาณ 130,000 ตัน และมีแผนที่จะส่งออกข้าวตามสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลอีกประมาณ 400,000 ตัน

จากสัญญาณของความต้องการข้าวขาวคุณภาพต่ำดังกล่าว ส่งผลให้ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงมีความต้องการปลูกข้าวขาวสายพันธุ์ IR 50404 มากขึ้น เพราะข้าวชนิดนี้สามารถนำไปผลิตเป็นข้าวขาวคุณภาพต่ำเพื่อส่งให้ทั้งสองตลาดได้

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิหร่าน

สำนักงานศุลกากรอิหร่าน (the Islamic Republic of Iran Customs Administration) รายงานว่า ในช่วง 7 เดือนแรก (21 มีนาคม – 22 ตุลาคม) ของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม 2561 – 20 มีนาคม 2562) อิหร่านนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 958,000 ตัน มูลค่า 985.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 12.54 และร้อยละ 4.21

รายงานระบุว่า ประชากรอิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวปีละประมาณ 3.2 ล้านตัน ขณะที่สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 2.2 ล้านตัน ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และไทย โดยในช่วงที่ผ่านมาอินเดียถือเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวไปยังอิหร่านมากที่สุด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีข้อตกลงการค้าแบบต่างตอบแทน (barter system) ซึ่งอิหร่านต้องการนำเข้าข้าวจากอินเดีย ขณะที่อินเดียนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ