สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 11, 2018 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 30 พ.ย. - 6 ธ.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,032 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,164 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,068 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,044 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,119 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,445 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,112 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,409 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 36 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,126 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,097 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 29 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,832 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,802 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,126 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,097 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 29 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5696

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์) เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการตกลงขายข้าวให้กับรัฐบาลจีนและรัฐบาลฟิลิปปินส์ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี รวม 1.8 แสนตัน โดยข้าวที่ขายให้กับรัฐบาลจีน คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นชอบการตกลงราคาขายข้าวล็อตที่ 7 ปริมาณ 1 แสนตัน กำหนดส่งมอบไม่เกินเดือนธันวาคม 2561 และที่ผ่านมาได้ส่งมอบข้าวให้กับจีนตามสัญญาแล้ว 6 แสนตัน จากสัญญาที่ทำไว้รวม 1 ล้านตัน สำหรับการประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวขาว 25% ฤดูกาลผลิตใหม่ของหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ที่ปริมาณ 80,000 ตัน และมีกำหนดส่งมอบภายในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงภาคเอกชนไทยได้ชนะการประมูลนำเข้าข้าวเป็นการทั่วไปของฟิลิปปินส์อีก 144,000 ตัน จากปริมาณที่เปิดประมูลนำเข้าข้าวขาว 25% ปริมาณ 500,000 ตัน โดยมีกำหนดส่งมอบเดือนธันวาคม 2561 – มกราคม 2562 ดังนั้น ไทยต้องเตรียมส่งออกข้าวทั้งหมดรวม 324,000 ตัน ภายในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวนาและตลาดข้าวของไทย เพราะมีคำสั่งซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก โดยตลาดต่างประเทศจะช่วยรองรับผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้ อธิบดีกล่าวต่ออีกว่า “ผู้ส่งออกข้าวจะต้องซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อส่งมอบข้าวปริมาณมากในระยะเวลาสั้น จึงเป็นการช่วยระบายข้าวฤดูกาลใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อชาวนาที่จะขายข้าวเปลือกได้ในราคาดี มีเสถียรภาพมากขึ้น และยังส่งผลดีต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบด้วย”

สถิติการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 พฤศจิกายน 2561 ส่งออกรวม 9.89 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ 11 ล้านตัน ตามเป้าหมายปี 2561 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกาที่จะนำเข้าข้าวก่อนเทศกาลคริสต์มาส

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ

กัมพูชา

นาย Sok Puthyvuth ประธานสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกำหนดภาษีของสหภาพยุโรปที่จะมีผลต่อการนำเข้าข้าวของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรป พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า ปัจจัยภายในของสหภาพยุโรป คือ สาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในสหภาพยุโรป โดยประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชากล่าวว่า ความยากลำบากที่เกษตรกรในสหภาพยุโรปต้องเผชิญคือการขาดความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ค้าข้าว เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงมากของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับปรุงอุตสาหกรรมข้าวในยุโรป ไม่ใช่ผลจากการที่สหภาพยุโรปมีการนำเข้าข้าวกัมพูชาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการแสดงความคิดเห็นในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการเผยแพร่ประกาศของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (the European Commission) มีสาระสำคัญคือ ผู้ส่งออกข้าวเมล็ดยาว สายพันธุ์ Indica ของกัมพูชา และเมียนมาร์ จะต้องเผชิญกับมาตรการทางภาษีนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี ซึ่งมีการเสนอให้เก็บภาษีศุลกากร (The customs tariff duty) จากทั้ง 2 ประเทศ ในอัตรา 175 ยูโรต่อตัน (ประมาณ 198 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีแรก และในอัตรา 150 ยูโรต่อตัน ในปีที่ 2 และอัตรา 125 ยูโรต่อตัน ในปีที่ 3 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชาไม่เชื่อว่ามาตรการปกป้องการนำเข้าข้าว (safeguard measures) ของสหภาพยุโรปที่จะออกในครั้งนี้ สามารถช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกรในสหภาพยุโรป เนื่องจากข้าวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่ได้แข่งขันโดยตรงกับผลผลิตข้าวที่ผลิตได้ในสหภาพยุโรป ซึ่งข้าวกัมพูชาที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปเป็นข้าวหอมในสัดส่วนร้อยละ 55 ซึ่งต่างจากข้าวของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร กัมพูชามากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยนาย Chray Son รองผู้อำนวยการบริษัท Capital Food ประเทศกัมพูชากล่าวว่า เกษตรกรกัมพูชาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่าต้นทุนการผลิตของกัมพูชาสูงมาก ดังนั้นหากผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรปจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดของกัมพูชาลดลง

ด้านนาย Chan Sophal ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายศึกษา (Centre for Policy Studies) เชื่อว่ามาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรปจะทำให้เกษตรกรกัมพูชาหันไปขายข้าวให้กับตลาดอื่นๆ ในอาเซียน โดยอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา รวมทั้งเกษตรกรจะต้องหันไปพึ่งพาตลาดจากประเทศไทย และเวียดนามมากขึ้น

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนที่จะใช้มาตรการใหม่ในการจัดหาข้าว ในช่วงเดือนมกราคม 2562 เพื่อเป็นการ รับประกันว่าจะมีสต็อกข้าวเพียงพอเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศและเป็นการดูดซับผลผลิตข้าวบางส่วนออกจากตลาด

ทั้งนี้ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้ให้ข้อมูลว่า ภายใต้โครงการใหม่ที่จะนำมาใช้ รัฐบาลจะอนุญาตให้ใช้เงินจากกองทุนสำรองข้าวของรัฐบาล (the government’s rice reserve; CBP) เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาด และราคาข้าวในโครงการของรัฐบาล เช่น หากหน่วยงาน BULOG (the State Logistics Agency) ขายข้าวในราคา 8,000 รูเปียต่อกิโลกรัม () ภายใต้โครงการของรัฐบาล ขณะที่ราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ประมาณ 10,000 รูเปียต่อกิโลกรัม (ประมาณ 695 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) หน่วยงาน BULOG จะได้รับเงินชดเชย จำนวน 2,000 รูเปียต่อกิโลกรัม (ประมาณ 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) จากกองทุนดังกล่าว

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ