สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2019 15:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 กุมภาพันธ์ 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,632 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,592 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,652 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,645 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,502 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,745 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,497บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,838 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9338

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าจะมีผลผลิต 495.867 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 495.069 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากปี 2560/61

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าผลผลิต ปี 2561/62 จะมี 495.867 ล้านตันข้าวสาร กุมภาพันธ์จากปี 2560/61 ร้อยละ 0.16 การใช้ในประเทศจะมี 490.266 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.56 การส่งออก/นำเข้าจะมี 48.124 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.20 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 167.624 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.46

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา จีน กายานา อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ อุรุกวัย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา ปากีสถาน ปารากวัย และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ กินี เฮติ อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรส และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน กานา และอินโดนีเซีย

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ตันละ 340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นช่วงก่อนวันหยุดเทศกาล Tet (the Lunar New Year Holiday) ขณะที่วงการค้าข้าวรายงานว่า ภาวะการค้าเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าในช่วงสัปดาห์แรกที่เริ่มกลับมาทำงานตามปกติ จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาประมาณ 20,000 ตัน ส่วนการส่งออกไปจีนนั้นวงการค้าคาดว่า ปี 2562 จีนจะซื้อข้าวเวียดนามลดลงเหลือประมาณ 500,000-600,000 ตัน จากที่ซื้อเมื่อปี 2561 ประมาณ 1.5-2 ล้านตัน

โดยปี 2562 รัฐบาลคาดว่าอาจจะต้องรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกไว้ และเพื่อช่วยพยุงราคาข้าวในประเทศไม่ให้ลดต่ำลง เนื่องจากผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาวจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่าจังหวัดในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูการผลิตฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ (winter-spring rice crop) ไปแล้วประมาณ 10 ล้านไร่ ท่ามกลางภาวะราคาข้าวเปลือกที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดมีไม่มากนัก โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกธรรมดาเกี่ยวสด (fresh regular paddy) อยู่ที่ประมาณ 4,300 ดองต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวเปลือกเมล็ดยาวเกี่ยวสด (fresh long-grain paddy) อยู่ที่ประมาณ 4,800-4,900 ดองต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 1,000 ดอง

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวเปลือกจะลดลง แต่ผู้ค้าข้าวยังคงซื้อข้าวไม่มากนัก เพราะการส่งออกยังไม่คึกคัก และมีอุปสรรคมาก ซึ่งตามปกติแล้วภายหลังสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน (lunar New Year) ในหลายพื้นที่สำคัญ เช่น Dong Thap, An Giang, Vinh Long, Hau Giang, Kien Giang และ Can Tho มักจะมีการเร่งรีบเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งต่างจากปีนี้ที่การเก็บเกี่ยวค่อนข้างล่าช้าจากภาวะการค้าที่ซบเซา โดยหลายจังหวัดทางภาคใต้เริ่มมีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากนัก โดยบางส่วนได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกไว้ และช่วยพยุงราคาข้าวไม่ให้ลดต่ำลง รวมทั้งการเสนอให้ธนาคารเพิ่มวงเงินให้ผู้ค้าข้าวสำหรับการซื้อข้าวจากเกษตรกรด้วย ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอให้ผู้ค้าข้าวเร่งซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกให้เต็มความสามารถของแต่ละราย

ด้านสมาคมอาหารเวียดนาม (The Vietnam Food Association) รายงานว่า ในช่วงครึ่งเดือนแรกของปี 2562 มีการส่งออกแล้วประมาณ 132,000 ตัน ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่ราคาส่งออกปรับลดลงอยู่ที่ตันละ 340-350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ราคาตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน-อินเดีย

ปี 2561 ถือเป็นอีก 1 ปีทองของการส่งออกข้าวไทยที่ส่งออกได้ถึง 11 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2562 การส่งออกข้าวไทยยังมีแนวโน้มสดใส กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 10 ล้านตัน ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าที่ 9.5 ล้านตัน แต่ล่าสุดในช่วงเดือนครึ่งที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยส่งสัญญาณแผ่วตั้งแต่ต้นปี เมื่อเงินบาทแข็งค่ามาก โดยเดือนมกราคม – 18 กุมภาพันธ์ 2562 แข็งค่าขึ้นมามากกว่าร้อยละ 3.2 สูงสุดในภูมิภาคดันราคาข้าวไทยสูงขึ้นสวนทางกับค่าเงินของอินเดีย และเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งส่งออกข้าวรายสำคัญ ที่ค่าเงินอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามคงที่ ประเทศคู่ค้าจึงสนใจซื้อข้าวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อข้าวไทยที่ลดลง

นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์) เผยว่า ข้าวไทยช่วงเดือนมกราคม – กลางเดือนกุมภาพันธ์ส่งออกข้าวแล้ว 8 – 9 แสนตัน เป็นออร์เดอร์เก่าตั้งแต่ปลายปี 2561 ส่วนออร์เดอร์ใหม่ที่จะส่งมอบช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ภาพรวมมีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อยมากถึงไม่มีเลยในบางราย ห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกนาปรังของไทยที่จะออกสู่ตลาดมากช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน

ผลกระทบเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาส่งออกข้าว 5% ของไทยต้องปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือปรับเพิ่มขึ้นตันละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวหอมมะลิจากตันละ 1,140 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นตันละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับข้าวขาว 5% และข้าวหอมเวียดนามที่ยังขายราคาเท่าเดิมที่ตันละ 340 และ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ราคาถูกกว่าไทยเนื่องจากได้เปรียบจากค่าเงิน

“ราคาข้าวขาวเวียดนามที่ต่ำกว่าข้าวไทย 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวหอมเวียดนามต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทย 3 เท่าตัว ทำให้ออร์เดอร์ข้าวมายังไทยเพื่อส่งมอบช่วง 2 – 3 เดือนข้างหน้าแทบไม่มีเลย คู่ค้าหันไปซื้อข้าวเวียดนามแทน รวมถึงซื้อข้าวจากจีนที่อยู่ในช่วงระบายสต็อกข้าวเปลือกและข้าวสารที่มีอยู่มากถึง 190 ล้านตัน ซึ่งมีเทรดเดอร์ไปซื้อข้าวเปลือกจากจีนนำไปผลิตเป็นข้าวนึ่งส่งขายตลาดแอฟริกาที่เป็นตลาดหลักข้าวนึ่งของไทยในราคาต่ำ และข้าวขาว 5% (ข้าวเก่า) จากจีน ขายแค่ตันละ 290 – 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้ศักยภาพแข่งขันส่งออกของไทยไม่เหลือ”

ขณะเดียวกันการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งเป็น 1 คู่แข่งที่สำคัญ รัฐบาลอินเดียได้ให้การอุดหนุนส่งออก 5% ของราคาขาย ทำให้ได้เปรียบทั้งไทยและเวียดนามในการส่งออกข้าว โดยอินเดียอ้างการอุดหนุนการส่งออกของอินเดียที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สามารถทำได้ แต่ไม่ครอบคลุมถึงสินค้าเกษตร เรื่องนี้ในการประชุมความร่วมมือด้านการค้าข้าวประจำปี 2562 ระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับสมาคมอาหารเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หารือกัน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า อาจจะประท้วงไปยังอินเดียให้ยกเลิกการอุดหนุน เพราะเป็นการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้จะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเจรจากดดันอินเดียอีกทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้วราคาส่งออกข้าวไทยจะสูงขายไม่ได้ ต้องลดราคาลง ซึ่งจะส่งผลถึงราคาข้าวในประเทศที่ลดลงตามกลไกลตลาดด้วย

แหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวว่า ดูจากปัจจัยต่างๆ แล้ว การส่งออกข้าวไทยปีนี้คงเหนื่อย แต่สินค้าโภคภัณฑ์ ไม่มีอะไรแน่นอนเปลี่ยนได้ตลอด เวลานี้เกิดปรากฎการณ์เอลนิโญในออสเตรเลีย ทำให้อากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง และเอลนิโญนี้อาจทำให้กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร เช่น บราซิล อาร์เจนตินา มีผลผลิตข้าวสาลีลดลง อาจช่วยให้ความต้องการข้าวโลกเพิ่มขึ้นได้

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ