สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2019 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 1 - 7 มีนาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,874 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,723 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.96

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,446 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,542 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.27

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.5394

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกข้าวในกัมพูชาควรหันมาส่งออกไปยังจีนและเวียดนาม เพื่อทดแทนตลาดในสหภาพยุโรปที่กำหนดใช้ภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภทข้าวจากกัมพูชาและเมียนมาร์ รวมถึงระงับสถานะด้านสิทธิพิเศษทางการค้าชั่วคราวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อปกป้องชาวนาในสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณข้าวกัมพูชาและเมียนมาร์

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีรูปแบบใหม่ในปีแรกจำนวน 199.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ก่อนจะลดลงเป็น 171 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในปีถัดมา เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 มาตรการดังกล่าวเป็นผลให้การส่งออกข้าวของกัมพูชาในเดือนมกราคมมีปริมาณ 59.63 ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายฮุนเซน กล่าวว่า ได้กำชับกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการค้าให้มุ่งเน้นการส่งออกข้าวไปยังจีนและเวียดนามเพื่อช่วยพยุงราคา โดยผู้ส่งออกข้าวต้องให้ความสำคัญกับการผลิตให้เพียงพอต่อการส่งออกข้าวไปยังจีน ซึ่งในปีนี้รัฐบาลจีนได้ขยายโควตาการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็น 4 แสนตัน จากเดิม 3 แสนตัน”

ทั้งนี้ ในปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวจำนวน 626,225 ตัน ในตลาดโลก ลดลงจากปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 โดยตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่สุดของกัมพูชา ได้แก่ สหภาพยุโรปที่มีปริมาณการนำเข้ากว่า 2.7 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 42.98 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน 170,000 ตัน ตามด้วยฝรั่งเศสจำนวน 90,000 ตัน มาเลเซีย 40,000 ตัน สาธารณรัฐกาบอง จำนวน 30,000 ตัน และเนเธอร์แลนด์ 26,000 ตัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

เมียนมาร์

สำนักข่าวเมียนมาร์ไทม์ส รายงานอ้างเจ้าหน้าที่สมาพันธ์ข้าวเมียนมาร์รายหนึ่งว่า ทางการเมียนมาร์และจีนได้หารือกันเพื่อเพิ่มโควตาส่งออกข้าวจากเมียนมาร์ไปจีนเป็น 400,000 ตัน

เมื่อปี 2559 รัฐบาลจีนให้โควตาเมียนมาร์ส่งออกข้าวได้ 100,000 ตัน แต่ปัจจุบันบรรดาผู้ค้าข้าวเมียนมาร์ต้องการให้เพิ่มโควตาดังกล่าวอีก 300,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ ระบุว่า ระหว่างเดือนเมษายน – ธันวาคมปีที่แล้ว ประเทศส่งออกข้าวและหักรวม 1.7 ล้านตัน มูลค่า 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ฮ่องกง

รายงานข้าวแจ้งว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฮ่องกงรายงานว่า ในเดือนมกราคม 2562 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากต่างประเทศรวมประมาณ 3.04 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.56 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 ที่นำเข้า 2.88 หมื่นตัน โดยนำเข้าจากไทยประมาณ 1.55 หมื่นตัน ลดลงร้อยละ 14.83 ประกอบด้วยข้าวขาว 700 ตัน ข้าวหอม 1.41 หมื่นตัน และข้าวชนิดอื่นๆ 700 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 51 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดของฮ่องกง โดยลดลงร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดในช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 63.2

ทั้งนี้ ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากเวียดนาม รองลงมาคือจากไทยซึ่งมีปริมาณ 8,700 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.35 ประกอบด้วยข้าวหอม 7,500 ตัน ข้าวขาวและข้าวชนิดอื่นๆ รวม 1,200 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.6 จีน ประมาณ 2,500 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.2 กัมพูชาประมาณ 1,800 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.9 โดยฮ่องกงนำเข้าข้าวจากกัมพูชาปริมาณลดลงร้อยละ 14.28 และสัดส่วนลดลงร้อยละ 19.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ออสเตรเลียประมาณ 1,100 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.6 สหรัฐ 200 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.7 และประเทศอื่นๆ 600 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.0

สำหรับการส่งต่อข้าวของฮ่องกง (Re-export) ไปยังประเทศอื่นนั้น ในเดือนมกราคม 2562 มีปริมาณ 1,459 ตัน ลดลงร้อยละ 12.84 โดยส่งไปยังมาเก๊าจำนวน 1,323 ตัน สหรัฐฯ 71 ตัน แคนาดา 19 ตัน เป็นต้น ส่วนการเก็บข้าวในสต็อก [Closing stock (excluding reserve stock)] ฮ่องกงมีขาวอยู่ในสต็อก ณ เดือนมกราคม 2562 รวม 1.14 หมื่นตัน และมีสต็อกสำรอง (Reserve stock) จำนวน 1.37 หมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากประเทศต่างๆ รวมประมาณ 3.08 แสนตัน ลดลงร้อยละ 1.62 โดยนำเข้าจากไทยประมาณ 1.71 แสนตัน ลดลงร้อยละ 17.1 ประกอบด้วยข้าวขาว 6,200 ตัน ข้าวหอม 1.56 แสนตัน และข้าวชนิดอื่นๆ 9,000 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 55.5 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมดหรือลดลงร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดในช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 65.9 รองลงมาคือ เวียดนาม ซึ่งฮ่องกงนำเข้าประมาณ 7.61 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.5 ประกอบด้วยข้าวหอม 6.78 หมื่นตัน ข้าวขาวและข้าวชนิดอื่นๆ รวม 8,300 ตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 24.7

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ