สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 4, 2019 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,726 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,774 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,771 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,762 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,470 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,650 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,134 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,462 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,125 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,333 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 129 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,733 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,001 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 268 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,551 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,726 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 175 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,001 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 146 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.3899

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานภาวะราคาข้าวไทยว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งราคาที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประกาศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 5 ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานว่า ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามและอินเดียทรงตัวอยู่ที่ตันละ 373-377 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปากีสถานราคาอ่อนตัวอยู่ที่ตันละ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐ

"ในช่วงนี้ภาวะการค้าในตลาดส่งออกค่อนข้างซบเซา เนื่องจากประเทศผู้ซื้อยังคงมีสต็อกข้าวที่นำเข้าก่อนหน้านี้เพียงพอแล้ว จึงยังไม่เร่งรีบซื้อเพิ่มเติมและบางส่วนรอดูราคาข้าวก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ประกอบกับประเทศจีนเข้ามา

มีบทบาทในตลาดส่งออกมากขึ้น ทำให้ทั้งไทยและอินเดียสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนให้แก่จีน โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ซึ่งปีนี้คาดว่าจีนจะส่งออกได้มากกว่า 3 ล้านตัน" ทั้งนี้ จากภาวะการแข็งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น สมาคมฯ จึงคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2562 ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน โดยคาดว่าในช่วงนี้จะเป็นการส่งมอบทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งให้กับตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แองโกลา แอฟริกาใต้ แคเมอรูน โมซัมบิก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทยไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน แคนาดา ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปริมาณข้าวหอมมะลิจะลดลง แต่การส่งออกข้าวหอมไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานการส่งออกข้าวรวม ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณ 667,257 ตัน มูลค่า 11,348 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 5.1 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2562 ที่ส่งออก 702,927 ตัน มูลค่า 11,463 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยในเดือนพฤษภาคมส่งออกข้าวขาว 295,527 ตัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน

ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกลา แคเมอรูน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เบนิน ฟิลิปปินส์ เคนยา โตโก โมซัมบิก เป็นต้น

ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 199,099 ตัน ลดลงร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 84,852 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลักของข้าวหอมมะลิ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

เวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 620,000 ตัน มูลค่า 272 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกเวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 3.38 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ประมาณ 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ราคาอยู่ที่ตันละ 340-345 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงนี้เริ่มมีการส่งมอบข้าวให้ประเทศอิรักบ้างแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 150,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม วงการค้าคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ผู้ส่งออกจะประสบความยากลำบากในการขายข้าว ขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศจีนคาดว่าจะลดน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลมีความเข้มงวดในการนำเข้ามากยิ่งขึ้น ประกอบกับสต็อกข้าวของจีนยังคงมีจำนวนมาก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี เวียดนามส่งออกข้าวไปประเทศจีนลดลงถึงร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ส่งออมากถึง 223,078 ตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถขายข้าวได้รวม 408,753 ตัน จากที่นำข้าวออกประมูล ประมาณ 1,623,969 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 25.17 ของปริมาณข้าวที่นำมาเสนอขาย) โดย ราคาขายอยู่ที่ 2,030 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 295 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ส่วนการประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืช แห่งชาติสามารถขายข้าวได้รวม 400,582 ตัน จากที่นำข้าวออกประมูลประมาณ 810,567 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 49.42 ของปริมาณข้าวที่นำมาเสนอขาย) โดยราคาขายอยู่ที่ 1,845 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 268 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติสามารถขายข้าวได้รวม 34,821 ตัน จากที่นำข้าวออกประมูลประมาณ 1,012,238 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 3.44 ของปริมาณข้าวที่นำมาเสนอขาย) โดยราคาขายอยู่ที่ 2,557 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา สามารถขายข้าวได้รวม 368,339 ตัน จากที่นำข้าวออกประมูลประมาณ 1,620,497 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 22.73 ของปริมาณข้าวที่นำมาเสนอขาย) โดยราคาขายอยู่ที่ 2,074 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 302 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปี 2562 นี้ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-12 มีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการสำรองธัญพืช (the State Administration of Grains and Reserves; SAGR) ของรัฐบาลจีน

ได้นำข้าวเก่าจากสต็อกรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ Indica ต้นฤดู (early indica rice) ออกมาเสนอขายประมาณ7.24 ล้านตัน แต่สามารถขายได้เพียง 22,000 ตัน เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่โรงสีข้าวจะซื้อข้าวฤดูใหม่ไปใช้สำหรับการแปรรูปเท่านั้น

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการสำรองธัญพืช (SAGR) ได้เริ่มนำข้าวสายพันธุ์ Indica กลางและปลายฤดู (mid-to-late indica rice) ออกเสนอขายก่อนกำหนดเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อลดภาระการสต็อกข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตามคาดว่าการจำหน่ายข้าวจะล่าช้าออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่การเสนอขายข้าวสายพันธุ์Japonica ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาเสนอขายในช่วงเวลาใด

ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 ธันวาคม 2561 ได้มีการจัดประมูลขายข้าวแล้ว ประมาณ 8.5 ล้านตัน (ไม่รวมข้าวที่ประมูลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม)

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ