สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 17, 2021 13:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 พฤษภาคม 2564

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 28.786 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว

2.1) การวางแผนการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2563/64 รวม 69.409 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 30.865 ล้านตันข้าวเปลือก จำแนกเป็น รอบที่ 1 พื้นที่ 59.884 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 24.738 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 9.525 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 6.127 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการลดรอบการปลูกข้าวก่อนฤดูกาลเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2

2.2) การจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 59.884 ล้านไร่ แยกเป็น 1) ข้าวหอมมะลิ 27.500 ล้านไร่ ผลผลิต 9.161 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวหอมไทย 2.084 ล้านไร่ ผลผลิต 1.396 ล้านตันข้าวเปลือก 3) ข้าวเจ้า 13.488 ล้านไร่ ผลผลิต 8.192 ล้านตันข้าวเปลือก 4) ข้าวเหนียว 16.253 ล้านไร่ ผลผลิต 5.770 ล้านตันข้าวเปลือก และ 5) ข้าวตลาดเฉพาะ 0.559 ล้านไร่ ผลผลิต 0.219 ล้านตันข้าวเปลือก

2.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

2.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่โครงการส่งเสริมระบบนาแบบแปลงใหญ่โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวกข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม (กข79) และโครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว

2.5) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

2.6) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการชาวนาปราดเปรื่อง

2.7) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการแข่งขัน และโครงการปรับปรุงและการรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่

2.8) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ

4.1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

4.2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ

5.1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศ โครงการกระชับความสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

5.2) ส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุก โครงการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดีจากแหล่งผลิตสู่ตลาดโลก โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ โครงการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2021 และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

5.3) ส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐาน และปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย

5.4) ประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยในตลาดข้าวต่างประเทศ

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 และงบประมาณ ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่

(1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,600 บาทรวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2563/64โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2563/64 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน)นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

3)โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,617 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,682 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,927 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,892 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 23,175 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.64

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,100 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.13

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 781 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,174 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 798 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,687 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.13 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 513 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,352 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 502 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,530 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 178 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,352 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 502 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,530 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 178 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9526 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

มาเลเซีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2564/65 (มกราคม-ธันวาคม 2564) คาดว่าผลผลิตข้าวของมาเลเซียจะมีประมาณ 18.50 ล้านตันข้าวสาร ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 18.75 ล้านตัน ในปี 2563/64 เนื่องจากมีการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวลงจากการที่เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน ประกอบกับเกษตรกรมีอายุมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร

ที่ผ่านมา ในปี 2562 อัตราการพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศ (self-sufficiency of rice) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 72 ลดลงจากเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 75 ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการในการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการเพิ่มการอุดหนุนและให้สิ่งจูงใจกับเกษตรกร โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ เป็นเงินประมาณ 380.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น การอุดหนุนด้านเมล็ดพันธุ์ การให้เงินจูงใจในการเพิ่มผลผลิต การอุดหนุนด้านราคาการอุดหนุนด้านปุ๋ย รวมทั้งการอุดหนุนด้านยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น สำหรับความต้องการบริโภคข้าวนั้น ในปีการตลาด 2564/65 คาดว่าจะมีประมาณ 2.90 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากจำนวน 2.95 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2563/64 เนื่องจากคาดว่าความต้องการบริโภคข้าวลดลงจากการที่กิจการโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ถูกปิด เนื่องจากการระบาดของเชื้อ COVID-19

สำหรับการนำเข้าข้าวในปีการตลาด 2564/65 คาดว่าจะมีประมาณ 1.05 ล้านตัน ลดลงจากจำนวน 1.15 ล้านตัน ในปี 2563/64 เนื่องจากความต้องการที่ลดลง ทั้งนี้ ประเทศเวียดนาม และอินเดีย ถือเป็นแหล่งนำเข้าข้าวรายใหญ่ของมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่แหล่งนำเข้าอื่นๆ เช่น ปากีสถาน เมียนมาร์ และไทย เป็นต้น

รัฐบาลมาเลเซีย ไม่มีนโยบายควบคุมราคาข้าวที่นำเข้า ซึ่งบริษัท Bernas Bhd ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการนำเข้าข้าวของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าข้าวสำหรับการบริโภค (import tax on rice for human consumption and) ไว้ที่ร้อยละ 40 และภาษีนำเข้าข้าวสำหรับอาหารสัตว์ (import tax on imports for animal feed) ไว้ที่ร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ควบคุมราคาข้าวขายปลีก (retail rice price) ของข้าวท้องถิ่น (ST15 variety) ไว้ที่ 1.65-1.8 ริงกิตต่อกิโลกรัม (ประมาณ 400-440 เหรียญสหรัฐต่อตัน)

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippines Statistics Authority; PSA) รายงานว่า ผลผลิตข้าวเปลือก ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม 2564) มีประมาณ 4.626 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับจำนวน 4.261 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (PSA) และกระทรวงเกษตร (DA) คาดว่าปีนี้ฟิลิปปินส์จะมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูก โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรก มีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 4.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงเกษตร (DA) ตั้งเป้าในปีนี้ที่จะผลิตข้าวเปลือกให้ได้ประมาณ 20.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จากจำนวน 19.40 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา โดยต้องการที่จะให้อัตราการพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศ (rice sufficiency level) อยู่ที่ระดับร้อยละ 93

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

จีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความมั่นคงด้านธัญพืชโดยการส่งเสริมผลผลิตธัญพืชมากขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีของจีนตั้งเป้าที่จะรักษาเสถียรภาพของราคารับซื้อข้าวและข้าวสาลีขั้นต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมผลผลิตข้าว และเพิ่มความมั่นคงด้านธัญพืช โดยรัฐบาลคาดว่า ในปีนี้จะมีการเก็บเกี่ยวธัญพืชเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ข้อมูลธัญพืชและน้ำมันแห่งชาติ (China National Grain & Oils Information Center; CNGOIC) คาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศจีนจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 215 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนข้าวโพด คาดว่าจะมีประมาณ 272 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และข้าวสาลีคาดว่าจะมีประมาณ 136.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ประเทศจีนนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปากีสถาน เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม เป็นต้นจากข้อมูลของสำนักงานศุลกากร (the Customs Authorities of China) รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี มีการนำเข้าข้าวประมาณ 910,000 ตัน มูลค่าประมาณ 434.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 203.3 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 180.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าจากประเทศปากีสถานมากที่สุดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 127.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 339.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคิดเป็นร้อยละ 29.40 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน

นอกจากนี้ ยังนำเข้าจากเมียนมาร์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 220.4 ประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 และเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 206.3 ขณะที่การนำเข้าจาก อินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 65,464 ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีรายงานว่าประเทศจีนได้ซื้อข้าวหักจากอินเดีย ประมาณ 100,000 ตัน ในราคาประมาณ 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยกำหนดส่งมอบระหว่างเดือนธันวาคม 2563- กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (China?s National Grain Trade Center; NGTC) รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีการจำหน่ายข้าวเปลือก (old crop paddy) จากสต็อกรัฐบาลจำนวน 160,053 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนที่นำออกมาประมูล) จากจำนวนข้าวเปลือกเก่าในสต็อกรัฐบาลที่นำออกมาประมูลขาย 4 ครั้ง รวมจำนวน 6.30 ล้านตันซึ่งลดลงจากจำนวน 488,622 ตัน ที่จำหน่ายได้ในเดือนก่อนหน้า

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ Oryza.com

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ