สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2022 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 มกราคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท

คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,883 บาท

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,971 บาท

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 24,300 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.09

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 715 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,698 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 687 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,754 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.08 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 944 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,020 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,877 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 143 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,920 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,778 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.96 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 142 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1439 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาส่งออกข้าวอยู่ในระดับทรงตัวจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดลง ขณะที่กิจกรรมทางการค้าเพิ่งจะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากที่หยุดติดต่อกันหลายวัน โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 395-400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้ค้าข้าวระบุว่า ช่วงนี้อุปทานข้าวในตลาดมีปริมาณลดลง จึงส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออกต่างเร่งหาซื้อข้าวเพื่อเตรียมส่งมอบตามสัญญาที่ยังค้างอยู่ โดยคาดว่าอุปทานข้าวจะยังคงลดลงจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring harvest) ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2565

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากร (the General Statistics Office) ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2564 เวียดนาม ส่งออกข้าวได้ประมาณ 494,600 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 และลดลงประมาณร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าตลอดทั้งในปี 2564 มีการส่งออกข้าวประมาณ 6.22 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นแตะที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้น ประกอบกับอุปทานข้าวในตลาดค่อนข้างตึงตัว

ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดลง โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ 359-363 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 355-360 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวใน Kakinada รัฐอานธรทางตอนใต้ของประเทศ ระบุว่า ช่วงนี้อุปสงค์จากต่างประเทศยังไม่แข็งแกร่ง ซึ่งสวนทางกับราคาข้าวที่ยังคงขยับสูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินรูปีที่แข็งค่า ซึ่งการแข็งค่าของเงินรูปีจะส่งผลให้ส่วนต่างที่ผู้ส่งออกได้รับจากการขายในต่างประเทศลดลง องค์การอาหารแห่งชาติ (the Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า สต็อกข้าวในคลังกลาง (Central Pool) ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2564 มีประมาณ 57.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ

ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยสต็อกข้าวสารเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาข้อมูลจากหน่วยงาน Directorate General of Commercial. Intelligence and Statistics (DGCIS) รายงานว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงประมาณร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับพฤศจิกายน 2564 โดยข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติมีการส่งออกประมาณ 1.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา รายงานว่า หน่วยงานด้านโลจิสติกส์ของรัฐ (Bulog) รายงานว่า ได้จัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศจนถึงสิ้นปีนี้ ประมาณ 1.2 ล้านตัน ดังนั้นหน่วยงานจึงให้ความมั่นใจว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อข้าวจากต่างประเทศมาเพื่อสำรองไว้ซึ่งนับเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน ที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ

นาย Budi Waseso ประธาน Bulog กล่าวว่า การเก็บสำรองข้าวจากผลผลิตข้าวภายในประเทศ จะเป็น ประโยชน์แก่เกษตรกรอินโดนีเซียที่ต้องประสบกับปัญหาด้านราคาข้าวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่ไม่ต้องนำเข้าข้าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักสถิติของอินโดนีเซีย (BPS) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของประเทศในไตรมาสแรกของปี 2565 จะสูงถึง 11.61 ล้านตัน ทั้งนี้ Bulog พร้อมที่จะรับซื้อผลผลิตข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ นอกจากการสำรองข้าวในคลังของรัฐบาลแล้ว การจัดซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในประเทศยังช่วยผลักดันรายได้ของเกษตรกร เพื่อให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจตามคำสั่งของประธานาธิบดี Jokowi ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19

โดยตลอดทั้งปี 2564 หน่วยงาน Bulog ยังคงรักษาเสถียรภาพราคาข้าวระดับผู้บริโภค โดยการติดตามภาวะอุปทานและรักษาเสถียรภาพราคา ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา อินโดนีเซียประสบปัญหาข้าวขาดแคลนบ่อยครั้ง จากการผลิตที่ไม่เพียงพอและขาด ประสิทธิภาพ รวมทั้งจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

ปัจจุบัน อินโดนีเซียนำเข้าข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยประมาณร้อยละ 98 เป็นปลายข้าว และข้อมูลจากสำนักสถิติอินโดนีเซีย อินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าว ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 (ตามรหัส HS Code : 1006) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 144.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทยมูลค่าประมาณ 30.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงประมาณร้อยละ 48.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าข้าวหักจากไทยมากที่สุด มูลค่าประมาณ 28.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ