สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 23 - 29 ธันวาคม 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนธันวาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 2.292 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.49 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.329 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 97.50 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.678 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 2.50 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว
ทั้งนี้ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2568 ปริมาณรวม 5.33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 67.73 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,639 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,462 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.22
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,339 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,331 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,830 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เปิดเผยการส่งออกข้าวไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีปริมาณ 786,263.6 ตัน ลดลงในรอบ 6 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2567 ที่ส่งออกได้สูงถึง 901,355.3 ตัน หรือลดลงร้อยละ 20.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกข้าวลดลง ได้แก่ การชะลอการนำเข้าจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีการเร่งนำเข้าข้าวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันสต็อกข้าวของทั้ง 2 ประเทศมีปริมาณมาก ประกอบกับอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดข้าวมีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งราคาส่งออกข้าวไทยยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้การแข่งขันมีความยากลำบากขึ้น ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการผลักดันการส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ประกอบการส่งออก และคาดการณ์ว่า ในปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกได้ประมาณ 10 ล้านตัน โดยในช่วงเดือนมกราคม ? พฤศจิกายน 2567 ไทยได้ส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 9.186 ล้านตัน
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
สำนักงานสถิติแห่งชาติของไนจีเรีย รายงานราคาอาหารประจำเดือนตุลาคม 2567 โดยระบุว่าราคาข้าวท้องถิ่นในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาข้าวท้องถิ่นเฉลี่ยเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 1,944.64 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (42.98 บาทต่อถุง1 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจาก 819.42 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (18.11 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) ในเดือนตุลาคม 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 137.32
ทำให้ข้าวท้องถิ่นกลายเป็น 1 ใน 10 ของอาหารหลักที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศ ซึ่งราคาข้าวที่สูงขึ้นนี้สะท้อนถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงส่งผลต่อราคาอาหาร และเป็นปัญหาสำคัญของครัวเรือนไนจีเรียที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในทางภูมิรัฐศาสตร์ราคาข้าวท้องถิ่นในแต่ละรัฐของไนจีเรียมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐโคกีมีราคาข้าวท้องถิ่นสูงสุดที่ 2,693.41 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (59.52 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) ขณะที่รัฐเบนูวราคาต่ำสุดที่ 1,267.25 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (28.01 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) ซึ่งความแตกต่างของราคาสะท้อนถึงความแตกต่างในด้านอุปทาน อุปสงค์ และช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารหลักในแต่ละภูมิภาคของไนจีเรีย อีกทั้งยังเป็นความท้าทายของเกษตรกรและผู้ผลิตในท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับการตอบสนองต่อความต้องการข้าวในประเทศท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายด้านการขนส่ง
นอกจากนี้ ราคาข้าว Ofada ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่ปลูกเป็นหลักในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไนจีเรีย และราคาข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ราคาอาหารในไนจีเรียมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในเดือนตุลาคม 2567 ราคาข้าว Ofada เฉลี่ยอยู่ที่ 2,428.65 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (53.67 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจาก 811.83 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (17.94 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) ในเดือนตุลาคม 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 199.16 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่วนราคาข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 2,471.28 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (54.62 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจาก 1,016.12 ไนราต่อถุง 1 กิโลกรัม (22.46 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม) ในเดือนตุลาคม 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 143.21 ซึ่งราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นได้รับอิทธิพลจากการลดค่าเงินไนรา ภาษีนำเข้า และความผันผวนของราคาในตลาดข้าวในตลาดโลก
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ไนรา เท่ากับ 0.0221 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร