ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2009 14:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

ปลาปุง เมืองน่าน ปลาเศรษฐกิจตลาดต้องการ

“ปลาปุง” เป็นชื่อคนเหนือใช้เรียก “ปลาพลวง” แต่ทางอีสานจะเรียกว่า ปลาโพง ปลาบ้า หรือทางใต้เรียกว่า ปลาเพง ซึ่งปลาปุงเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่อยู่ในวงศ์ของปลาตะเพียน มีลำตัวยาว ทรงกระบอก หัวมนเล็ก มีเกล็ดขนาดใหญ่ ลำตัวสีน้ำตาลหรือเทา ด้านข้างสีเหลืองเงิน บางแหล่งอาจจะมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวตามยาวไปจนถึงเกือบโคนหาง มีขนาดความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เคยพบใหญ่ที่สุดยาวถึง 1.5 เมตร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 10 ตัวจนถึงร้อยตัวขึ้นไป มีความปราดเปรียวว่องไว ปลาปุงสามารถเปลี่ยนสีได้เองตามสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เช่น ถ้าอยู่ตามถ้ำก็จะมีสีคล้ำ คนทางเหนือนิยมนำปลาปุงมาทำลาบปลาปุง ซึ่งมีรสชาติอร่อยมาก แต่เริ่มหาได้ยากในธรรมชาติแล้ว ซึ่งชาวบ้านนำมาจำหน่ายกันในราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท

ต่อมาได้มีเกษตรกรใน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พยายามนำปลาปุงจากธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อได้สำเร็จ เมื่อ ผศ.ชัยยุทธ ยะวิญชาญ และ อ.เอกชัย ดวงใจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตน่าน ได้พบจึงมีคิดต่อยอดให้เพาะเลี้ยงปลาปุงในเชิงพาณิชย์ อ.เอกชัย ดวงใจ จึงลองทำการผสมเทียมซึ่งก็ประสบความสำเร็จ และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาปุง จนปัจจุบันมีเกษตรกรที่เลี้ยงปลาปุงมากกว่าร้อยรายในพื้นที่ อ.ปัว และ อ.บ่อเกลือ โดยแม่พันธุ์ปลาปุงน้ำหนัก 4 กิโลกรัม สามารถผลิตไข่ได้ 33,000 ฟอง โดยปลาตัวเมียที่มีไข่แก่สังเกตดูที่ตุ่มใต้บริเวณแก้มปลาจะออกเป็นสีชมพู สังเกตเพศปลาตัวผู้ตัวเมียจากความแตกต่างระหว่างการเรียงเกล็ดบริเวณโคนครีบก้นและช่วงเพศ ปลาเพศเมียจะโตเป็น 2 เท่าของเพศผู้เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ปลามีน้ำเชื้อและไข่สมบูรณ์เมื่ออายุ 3 ปี โดยฤดูสืบพันธุ์วางไข่จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ในการเลี้ยงปลาปุงสภาพแวดล้อมต้องมีน้ำใสสะอาดและน้ำเย็นมาก

อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลาปุงสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ส่วนอาหารเสริมก็สับรังปลวกร่อนให้กินวันละ 2 ครั้ง และการเลี้ยงด้วยไส้เดือนจะเร่งการแก่ของไข่และทำให้อัตราการรอดตายสูง ลูกปลาเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำหรับปลาดุกหรือติดหลอดไฟล่อแมลงเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาเพื่อลดต้นทุนอาหาร เกษตรกรที่สนใจสอบถามได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตน่าน โทร. 0-5434-2547-8

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 ม.ค. — 5 ก.พ. 2552) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,096.75 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 648.91 ตัน สัตว์น้ำจืด 447.84 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

          1.1  ปลาดุก          ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                2.86     ตัน
          1.2  ปลาช่อน         ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                4.43     ตัน
          1.3  กุ้งทะเล         ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               103.27    ตัน
          1.4  ปลาทู           ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 7.79    ตัน
          1.5  ปลาหมึก         ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                87.51    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.44 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 38.90 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.46 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.22 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 62.58 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.36 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 119.29 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.71 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 126.84 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 124.86 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.98 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 131.66 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 133.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.94 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.29 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 121.43 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.58 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.65 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.07 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60%(ระหว่างวันที่ 14-20 ก.พ.2552) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 27.34 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 28.66 ของสัปดาห์ก่อน 1.32 บาท

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ