คชก. คลอดงบกว่า 375 ล้าน ชง 3 มาตรการ ระบายผลผลิตไม้ผลภาคใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2009 14:12 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

คชก. ดึงงบประมาณกว่า 375 ล้านบาท ให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 52 รับมือผลผลิตล้นตลาดช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน นี้ เผย แผนการดำเนินงานทั้ง 3 มาตรการตั้งแต่การบริหารจัดการ ช่องทางการตลาด ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมการบริโภค เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนภาคใต้

นายมนตรี เมืองพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 375 ล้านบาท ให้หน่วยงานในแต่ละจังหวัดภาคใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2552 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ราคาไม้ผลตกต่ำ เนื่องจากผลสำรวจพบว่าในปี 2552 การผลิตเงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ของภาคใต้ในปีนี้ได้ผลดี เพราะสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย จึงส่งผลให้ผลไม้ทั้ง 4 ชนิด มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจะออกสู่ท้องตลาดพร้อมกันทั้งภาค ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายนนี้ ประกอบกับทางภาคเหนือจะมีลำไยออกสู่ท้องตลาดในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน จึงอาจส่งผลให้ไม้ผลทั้ง 4 ชนิดมีราคาลดลง ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน

          สำหรับงบประมาณที่ได้รับในแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น จะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน  2552 เท่านั้น  โดยจะแบ่งดำเนินการแก้ไขใน 3 มาตรการ  คือ  มาตรการที่ 1 (ประมาณ 44 ล้านบาท) ใช้ในการบริหารจัดการผลผลิตด้วยการจ้างเหมาแรงงานให้กับศูนย์คัดแยกผลไม้ในการรวบรวมผลผลิต โดยทำความสะอาด  คัดแยกเกรด บรรจุลงกล่อง และขนส่งในอัตรากิโลกรัมละ 2.50  บาท รวมเป็นงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท  ขณะเดียวกันอีก 4  ล้านบาท จะใช้ในการจัดซื้อเงาะตกเกรดไปทำปุ๋ยชีวภาพ และมอบให้แก่เกษตรกรไปใช้แทนปุ๋ยเคมี   มาตรการที่ 2 (ประมาณ 323 ล้านบาท) เพื่อเร่งกระจายผลผลิตออกนอกเขตภาคใต้ในช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกมาก โดยการสนับสนุนค่าขนส่งให้กับสถาบันเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน  รวมถึงศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาคใต้ตอนบนอัตราเฉลี่ยกิโลกรัมละ        3  บาท  และภาคใต้ตอนล่าง อัตราเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท รวมวงเงิน ประมาณ  220 ล้านบาท  รวมทั้งสนับสนุนกล่องกระดาษขนาด 12.50 กิโลกรัม สำหรับบรรจุผลไม้เพื่อให้การขนส่งสะดวกและรวดเร็วอีกประมาณ  23 ล้านบาท  นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเงินกู้แก่ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อผลไม้อีก 80 ล้านบาท  และมาตรการที่ 3  (ประมาณ 8 ล้านบาท) เป็นการรณรงค์ส่งเสริมการจำหน่ายและบริโภคผลไม้ให้แพร่หลาย เป็นจำนวน 1 ล้านบาท  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 ล้านบาท จะใช้ในการบริหารจัดการโครงการนี้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะทำหน้าที่ในการติดตามประเมินผลโครงการ  เพื่อหาข้อบกพร่อง และแนวทางในการดำเนินงานของปีต่อๆ ไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ