ปลุกเกษตรกร อัพเกรดฟาร์มให้ได้มาตรฐานสู่ตลาดโลก

ข่าวทั่วไป Friday August 7, 2009 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ ห่วง มีฟาร์มสุกรมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์เพียง 3,470 จาก 200,000 ฟาร์ม ย้ำ เกษตรกรต้องปรับระบบบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ตามข้อกำหนดกรมปศุสัตว์ นอกจากช่วยลดต้นทุน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยังเพิ่มศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร) ได้กำหนดนโยบายด้านการเกษตรของกระทรวงฯ ในเรื่องนโยบายด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยปราศจากสารตกค้าง และการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ จึงต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมการผลิตของผลิตภัณฑ์อาหารทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะตั้งแต่ระบบการเลี้ยงของเกษตรกรที่ต้องเอาใจใส่ รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีทั้งการเลี้ยงและการให้อาหารเพื่อให้ปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจตกค้างอย่างได้มาตรฐานที่กำหนดไว้

โดยจากการตรวจสอบฟาร์มสุกร พบว่า มีฟาร์มมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนกับทางกรมปศุสัตว์ปัจจุบันมีเพียง 3,470 ฟาร์ม จากทั้งหมด 200,000 ฟาร์มทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่า จะมีปริมาณการผลิตสุกรในปี 2552 ประมาณ 11. 756 ล้านตัว ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 2.75 โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เดือนกรกฎาคม อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.70 บาท ซึ่งยังคงเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรผู้เลี้ยงได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง

          รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโดยเน้นที่คุณภาพมากขึ้น ซึ่งในเรื่องของมาตรฐานฟาร์ม                มีข้อกำหนดทั้งในเรื่องของสถานที่และโรงเรือน เช่น ฟาร์มต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ขนาดของโรงเรือนต้องเหมาะสมกับจำนวนสุกร มีระบบทางระบายน้ำเสียระบายจากโรงเรือนสู่บ่อบำบัดได้อย่างสะดวกไม่อุดตัน          มีระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการถ่ายเทอากาศที่ดี เหมาะสมกับขนาดและชนิดของสุกรที่เลี้ยง                    ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มที่เหมาะสมนั้น  ควรให้มีส่วนการผลิตแยกกันอย่างชัดเจน ต้องมีระยะพักของโรงเรือนหลังจากการย้ายสุกรออกโดยต้องทำความสะอาด พื้นคอก อุปกรณ์การให้อาหารและน้ำ โรงเรือนควรได้รับการดูแล และซ่อมบำรุง ให้ใช้ประโยชน์ได้ดี และมีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงาน และตัวสุกร                    มีสัตวแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง และได้รับใบอนุญาตควบคุมฟาร์ม จากกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์ภายในฟาร์ม มีระบบการบันทึกข้อมูลที่ง่ายต่อการตรวจสอบ อาหารสัตว์ต้องมีคุณภาพที่กำหนดตาม พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์  ได้มาตรฐานเหมาะสมและสอดคล้องกับช่วงอายุและชนิดของสุกร ต้องไม่ใช้สารต้องห้ามตามกฎหมายผสมในน้ำ ซึ่งหากเกษตรกรมีการพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพแล้ว นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังส่งผลไปถึงประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี และยังทำให้สินค้าปศุสัตว์ของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้               รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ