สศก. เล็งแนวทางการตลาดปลานิล

ข่าวทั่วไป Friday August 7, 2009 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ลงพื้นที่จังหวัดตากและลำพูน ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการส่งออกปลานิลของเกษตรกรที่ได้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) พบ เกษตรกรมีกำไรสุทธิ 10,000 ถึง 20,000 บาท เตรียมประสานทุกหน่วยงานผลักดันการตลาด ส่งเสริมเกษตรกรที่ได้ใบรับรอง พร้อมรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีให้มีมาตรฐาน

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพการส่งออกปลานิล ตามนโยบายด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการผลิตของผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค ซึ่ง สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ดำเนินการติดตามผลโครงการเพิ่มศักยภาพการส่งออกปลานิลใน 2 จังหวัด คือจังหวัดตาก และลำพูน โดยจากการลงพื้นที่ในอำภอเมือง จังหวัดตาก พบว่า เกษตรกรมีการเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณแม่น้ำปิงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีฟาร์มที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมประมง (GAP) ในปี 2552 จำนวน 10 ฟาร์ม 67 กระชัง ซึ่งเป็นเกษตรกรรายใหม่ทั้งหมด โดยเกษตรกรมีกำไรสุทธิประมาณ 20,000 บาท/กระชัง/รุ่น และเกษตรกรส่วนใหญ่จะนำผลผลิตไปขายในพื้นที่ของเกษตรกรเอง ทั้งร้านอาหาร และตลาดสด

สำหรับการติดตามผลโครงการในท้องที่ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พบว่า มีฟาร์มที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) จำนวน 7 ฟาร์ม โดยเกษตรกรมีการจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลในกระชังชุมชนบ้านป่าแกมาประมาณ 4 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน มีกระชังเลี้ยงปลาจำนวน 10 กระชัง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเลี้ยงและดูแลให้อาหารปลาทุกวัน และมีการประสานงานกับบริษัทเอกชนในการดูแลในเรื่องของพันธุ์ปลา อาหาร รวมถึงแหล่งจำหน่าย โดยจะจำหน่ายให้บริษัทในราคาประกัน ซึ่งเกษตรกรมีกำไรสุทธิจากการขายปลาประมาณ 10,000 บาท/กระชัง/รุ่น และในปี 2553 นี้ กลุ่มจะดำเนินการรับสมาชิกเพิ่ม พร้อมทั้งขยายกระชังเพิ่มอีก 4 กระชัง

ทั้งนี้ เกษตรกรยังประสบกับปัญหาด้านราคาผลผลิต เนื่องจากแม้ว่าเกษตรกรจะได้รับใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) แต่กลับขายได้ราคาไม่แตกต่างจากฟาร์มที่ไม่ได้รับรอง อีกทั้งเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังยังประสบปัญหาโรคระบาดตามฤดูกาลที่เกิดจากแบคทีเรีย ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งทาง สศก. จะได้รายงานและประสานไปยังหน่วยงานในโครงการ ในการกำหนดแนวทางจัดการด้านตลาดเพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่ได้ใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม โดยมีการสนับสนุนเกษตรกรได้ดูฟาร์มเลี้ยงปลาตัวอย่างที่ได้มาตรฐาน เรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลาที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยรณรงค์ให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีให้มีมาตรฐาน ส่งผลไปถึงประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี และยังทำให้สินค้าปศุสัตว์และประมงของไทยมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รองเลขาธิการ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ