ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Friday August 28, 2009 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดค่อนข้างซบเซา เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.59 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.73 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.25 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.68 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 54.07 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.01 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.72 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปรับลดปริมาณการผลิตให้สมดุลย์กับความต้องการบริโภค ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้มีการบริโภคอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติมากขึ้น แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ฟู้ดส์ (โอเวอร์ซีส์) เริ่มก่อตั้งในปี 2549 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เพื่อการเกษตร ปศุสัตว์ ในต่างประเทศ โดยเริ่มจากตลาดประเทศรัสเซียเป็นตลาดแรก ก่อนขยายไปยังประเทศใหม่ๆ รวมทั้งได้ก่อตั้งบริษัท ซีพีเอฟ ในประเทศลาว และการเข้าซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมในประเทศมาเลเซีย ด้วยการไปถือหุ้น 100% ในปีเดียวกัน แนวทางดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจก่อนไปสู่การขยายธุรกิจอาหารในช่องทางค้าปลีกภายใต้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี (CP) เพื่อเจาะตลาดอาหารช่องทางค้าปลีกทั่วโลกในอนาคต และอีกหนึ่งตลาดต่างประเทศ คือ ประเทศฮ่องกง ซีพีเอฟได้เห็นถึงความสำคัญต่อการทำตลาดสินค้าแบรนด์ “ซีพี” โดยนับตั้งแต่ปี 2550 ที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจในฮ่องกง เริ่มต้นด้วยยอดขายเพียง 80 ล้านบาท จนมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีต่อมาด้วยยอดขายกว่า 180 ล้านบาท สินค้าที่บุกเบิกเป็นไก่แช่แข็งแบรนด์ซีพี พร้อมวางยุทธศาสตร์สินค้าด้วยการเจาะช่องทางค้าปลีก ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อ ภายใต้สายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันดีที่ซีพี จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ซีพีเอฟเห็นว่าฮ่องกงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยปีนี้วางเป้ายอดขายราว 370 ล้านบาท และในปี 2553 จะมียอดขายเติบโตพุ่งกว่า 3 เท่า หรือมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี ในตลาดต่างประเทศคาดจะมีรายได้ในปีนี้กว่า 3,400 ล้านบาท พร้อมแผนระยะยาวในอีก 5 ปีนับจากนี้จะมียอดขายสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน อย่างไรก็ตามซีพีเอฟ โอเวอร์ซีส์ ยังมองหาโอกาสการขยายตลาดใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดา

ด้านบริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัทสหฟาร์ม ได้มีการลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับบริษัทของมาเลเซีย ในการผลิตและจัดส่งเนื้อไก่สดแช่แข็งและไก่สุกไปยังตลาดมุสลิมทั่วโลก โดยมีรัฐมนตรีช่วยประจำสำนักนายกฯ ของมาเลเซียเป็นสักขีพยาน ขณะที่มาเลเซียได้รับการรับรองความเชื่อถือในการทำตลาดอาหารฮาลาลมานาน ทั้งนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียมาศึกษาดูงานขั้นตอนและกรรมวิธีต่างๆ จากการเลี้ยงและชำแหละ จนเกิดความมั่นใจว่าบริษัทได้ทำถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามทุกอย่าง ประกอบกับไก่ที่เลี้ยงไม่ได้ใช้วัคซีนฉีด แต่ใช้สมุนไพรไทยในการป้องกันโรค ส่งผลให้เกิดการยอมรับและความมั่นใจ สำหรับตลาดอาหารฮาลาล มีการประเมินตลาด มูลค่าอย่างต่ำ 500,000 ล้านดอลลาร์ และหากสัดส่วนของประชากรมุสลิมเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกในระยะเวลา 18 ปีจากนี้ไป มูลค่าการค้าอาหารฮาลาลจะมีสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของการค้าโลก อย่างไรก็ตามในการร่วมกับมาเลเซียในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นฐานในการกระจายอาหารฮาลาลไปขายทั่วโลก จะทำให้ไก่สดภายในประเทศได้ระบายออก และหากส่งออกไก่สดแช่แข็งได้มากขึ้น จะส่งผลให้โรงงานไก่ เกษตรกรที่ผลิตพืชเป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ได้รับรายได้และผลประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.43 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.58 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.56 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 39.54 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 48.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการบริโภคที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ให้ความร่วมมือในการปรับลดไก่ไข่พันธุ์และปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง ทำให้ปริมาณผลผลิตลูกไก่ไข่และไข่ไก่ลดลง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่และลูกไก่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าความต้องการบริโภคและความต้องการเลี้ยงยังมีอยู่มาก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 260 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 259 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 265 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 269 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 257 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 27.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 11.11

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ย ร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 287 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 288 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 247 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 307 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 275 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 335 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.82 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.82 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.96 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.61 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 46.77 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.45 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.94 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 17 - 23 สิงหาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ