World Food Day ปั้นมาตรการสร้างความมั่นคงอาหารโลกในยามวิกฤต

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2009 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ที่ประชุม World Food Day แจง ประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 6 ยังอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย เหตุจากวิกฤตเศรษฐกิจ เผย ปัจจุบันราคาอาหารส่วนใหญ่ยังมีระดับสูงกว่าที่เคยเป็นถึงร้อยละ 25 ในขณะที่ประชากรในประเทศยากจนกลับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลกในยามวิกฤต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ที่เข้าร่วมงานวันอาหารโลก (World Food Day) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ว่าในการประชุมดังกล่าวทางผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Mr.Jacques Diouf) ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ถึงเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบอาหารโลกมีความเปราะบางมากเพียงใด และจากอดีตที่มีประชากรที่มีภาวะทุพโภชนาการประมาณ 1 พันล้านคน กลับมีเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 105 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าประชากรโลก 1 ใน 6 อยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย โดยเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ทำให้รายได้และการจ้างงานลดลง และที่สำคัญประชากรเข้าถึงอาหารได้น้อยลง ดังนั้น วันอาหารโลกครั้งนี้จึงมีแนวคิดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลกในยามวิกฤต

โดยปัจจุบัน แม้จะผ่านพ้นวิกฤตราคาอาหารไปแล้ว แต่ราคาอาหารที่สำคัญส่วนใหญ่ยังคงมีระดับสูงกว่าที่เคยเป็นถึงร้อยละ 25 ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งยังคงมีราคาสูงต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลักได้รับผลกระทบทันที ตลอดจนผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรในประเทศยากจนกลับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งน้ำและที่ดินทำกินจึงยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเตรียมกำหนดมาตรการอย่างเร่งด่วน ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว

สำหรับมาตรการระยะสั้น จะต้องสร้างหรือปรับปรุงนโยบายทางด้านสังคมเพื่อสร้างเกราะป้องกัน (Safety nets) ให้กับกลุ่มที่อ่อนแอมากที่สุดเป็นอันดับแรก โดยกำหนดแผนการกระจายอาหาร แผนการเคลื่อนย้ายเงินช่วยเหลือ โครงการอาหารโรงเรียน แผนงานโภชนาการแม่และเด็ก และแผนการจ้างงาน รวมถึงให้การสนับสนุนการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ แก่เกษตรกรรายย่อย ส่วนมาตรการระยะปานกลางและระยะยาวนั้น จะต้องเพิ่มการลงทุนในภาคการเกษตรให้มากขึ้น เนื่องจาก 20 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนในภาคนี้น้อยมาก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขาดประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต

เลขาธิการกล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี (ตรงกับวันที่ก่อตั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) เป็นวันอาหารโลก เพื่อให้ประชากรของทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร การผลิตอาหารให้มีคุณภาพที่ดี และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหาร โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การอภิปราย การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้หัวข้อเดียวกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน ที่สำนักงานอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถนนพระอาทิตย์

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ