ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday December 14, 2009 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดเริ่มสมดุลและสอดคล้องกับความต้องการบริโภค ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะเริ่มเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน คาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 55.54 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 55.22 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.58 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.16 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 53.96 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 56.57 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 60.63 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,800 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ราคาเกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดมีไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน

กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการจัดการที่ลดความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นในไก่พื้นเมือง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร โดยมีการสร้างฟาร์มสาธิตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่สามารถป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีกได้ เพื่อให้ฟาร์มดังกล่าวเป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน นำไปใช้ปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ปีกของตนเอง โดยจะสร้างฟาร์มสาธิตการในทุกอำเภอ อำเภอละ 2 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังสร้างเกษตรกรเครือข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในระดับพื้นที่ให้เป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับไปยังเกษตรกรอื่นในชุมชน ซึ่งเกษตรกรจากฟาร์มสาธิต 1 ราย จะสามารถสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรายอื่นในชุมชนได้อย่างน้อย 30 ราย ส่งผลให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคได้มากขึ้น และยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนก ลดจำนวนสัตว์ปีกป่วยตาย มีเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนกเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรู้และควบคุมโรคได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 40.98 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.31 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.66 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 42.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 39.49 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 41.43 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไข่ไก่ในสัปดาห์นี้ราคาเกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา จากสภาพอากาศเย็นเอื้ออำนวยต่อผลผลิตไข่ไก่ แต่จากความต้องการบริโภคที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาวะตลาดค่อนข้างคึกคัก เพราะเข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว เฉลิมฉลองและมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ติดต่อกันหลายวัน แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้น

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 250 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 248 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.57 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 248 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 263 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 243 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 265 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 282 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.83 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 256 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 291 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 275 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 327 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 43.48 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 43.83 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.80 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 46.04 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.64 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 48.46 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 49.77 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 34.87 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.99 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.33 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 32.03 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2552--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ