‘บ.ชัชวาลออร์คิด’ เล็งการณ์ไกล จัดทำมาตรฐาน BRC รองรับตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทยในกลุ่มอียู

ข่าวทั่วไป Wednesday October 6, 2010 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สวทช. iTAP หนุน บจก.ชัชวาลออร์คิด จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยทางออกสูงสุด ( BRC ) เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยในตลาดค้าปลีกประเทศอังกฤษ หลังอังกฤษออกมาตรฐานดังกล่าวขึ้น เพื่อควบคุมผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอาหารที่นำเข้าไปจำหน่ายในองค์กรหรือผู้ค้าปลีกในประเทศอังกฤษ ล่าสุด สามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน BRC จาก SGS เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าภายใต้แบรนด์ “Quality Green” ส่งออกไปได้ทุกที่ในตลาดอียู กระแสเรื่องความปลอดภัยในอาหารกำลังทวีบทบาทยิ่งขึ้น สินค้าเกษตรประเภทอาหารของไทยซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออกของประเทศขณะนี้กำลังถูกคุมเข้ม โดยเฉพาะพืชผักของไทย ที่ผ่านมามีการตรวจพบการปนเปื้อนในพืชผักของไทยที่ถูกส่งไปสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งการตรวจพบดังกล่าวทำให้ไทยถูกขึ้นบัญชีประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ต้องมีการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด และในบางครั้งการส่งออกต้องชะงักเพราะการตรวจสอบจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) โดยใช้มาตรฐาน BRC (The British Retail Consortium) BRC เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารสูงสุด สูงกว่า HACCP ครอบคลุมความปลอดภัยทุกระบบทั้ง GMP HACCP และ ISO มาตรฐาน BRC เป็นการจัดทำระบบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ค้าปลีกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าให้กับองค์กรค้าปลีกหรือผู้ค้าปลีกในสหราชอาณาจักร ในจุดนี้ประเทศไทยต้องตระหนักอย่างมากเพื่อควบคุมมาตรฐานของอาหารตามกำหนดของ BRC เพราะในอนาคตสินค้าทุกชนิดที่นำมาจำหน่ายในระบบค้าปลีกของสหภาพยุโรปหรือในองค์กรของผู้ประกอบการจากกลุ่มสหภาพยุโรปที่กระจายอยู่ทั่วโลก ต้องมีมาตรฐาน BRC ทุกชนิด บริษัท ชัชวาลออร์คิด จำกัด ผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกและส่งออกผลิตผลทางการเกษตร เช่น กระเจี๊ยบเขียว , หน่อไม้ฝรั่ง และผลไม้ตามฤดูกาลทั้งสดและผ่านการตัดแต่ง ภายใต้แบรนด์ “Quality Green” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 หลังวิกฤตเศรษฐกิจเพียง 1 ปี ส่งออกกล้วยไม้เป็นที่ยอมรับของตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่อมาได้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรส่งออกไปยังตลาดยุโรป นายชัชวาล เตละวาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัชวาลออร์คิด จำกัด เล่าว่า หลังก่อตั้งบริษัทได้เพียง 2 ปี ก็เริ่มมองหาสินค้าใหม่ ประกอบกับได้น้องชายเข้ามาเสริมทีมทางด้านการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร พบว่า กระเจี๊ยบเขียวเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น ซึ่งจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่าปริมาณการเพาะปลูกกระเจี๊ยบเขียวสดในประเทศไทยกว่า 95-98% ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า การบริโภคกระเจี๊ยบเขียวจะดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารและยังช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร จึงเป็นที่มาของการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรของบริษัทเมื่อปี 2543 จากนั้นตามด้วย หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี และประเทศแถบตะวันออกกลาง ต่อมาจึงได้เพิ่มผลไม้ส่งออกเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ จะรับซื้อจากคอนเทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ที่บริษัทเข้าไปส่งเสริมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมให้ความรู้ และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการเพาะปลูกให้กับเจ้าของเพื่อให้ผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐานส่งออกปัจจุบันบริษัทฯ มีสมาชิกกว่า 60 รายรอบพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว และ จ.นครปฐม เพื่อความสะดวกในการดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นคอนเทรคฟาร์มมิ่งสามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ บริษัทฯ จึงมั่นใจถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการผลิต อาทิ มาตรฐาน GMP และ HACCP ได้รับการรับรองหลังก่อตั้งบริษัทได้เพียง 3 ปี และมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร ISO 22000:2005 เมื่อปี 2551 ล่าสุด ยังได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน BRC จากบริษัท SGS(ประเทศไทย)จำกัด เมื่อเดือน มีนาคม 2553 สำหรับการจัดทำระบบมาตรฐาน BRC นี้ บริษัทได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย iTAP ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2552 ใช้เวลา 15 เดือนในการวางแผนปรับปรุงกระบวนการผลิตและการปฏิบัติงานของบุคลากรให้ถูกต้อง รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรของบริษัทให้มีความรู้ในมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้บริษัทฯ สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานผู้ค้าปลีกประเทศอังกฤษ BRC นายชัชวาล กล่าวว่า “ มาตรฐาน BRC เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ค้าปลีกที่ประเทศอังกฤษกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอาหารที่นำเข้าไปจำหน่ายในองค์กรหรือผู้ค้าปลีกในประเทศอังกฤษ แม้ว่าขณะนี้บริษัทจะยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะบริษัทฯ มีมาตรฐาน ISO 22000:2005 รองรับ อีกทั้งบริษัทเองไม่ได้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือห้างค้าปลีกในอังกฤษอยู่แล้ว แต่หากเรามีมาตรฐาน BRC ก็จะเป็นที่ยอมรับจากประเทศอื่นๆ ในอียูมากขึ้น แนวคิดนี้บริษัทมีมานานแล้ว และพร้อมจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่มาตรฐาน GMP กล้วยไม้ที่กำลังจะมีการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวออกมาบังคับใช้ บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้เตรียมตัวรองรับอยู่แล้ว ดังนั้น การที่บริษัทมีมาตรฐานจะทำให้การทำธุรกิจสามารถขยับขยายได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น เพราะการมีมาตรฐานด้านคุณภาพจะทำให้สินค้าของบริษัทไปที่ไหนก็ได้แล้วยังได้รับการตอบรับจากตลาดทุกแห่งทั่วโลก ” กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า iTAP เป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการ เพราะหากผู้ประกอบการต้องออกเองทั้งหมดบริษัทเล็กๆ คงไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษานั้นค่อนข้างสูง หากบริษัทต้องออกเองทั้งหมดก็คงจะยังไม่ได้ทำระบบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ค้าปลีก BRC เพราะถือว่ายังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลงทุนในขณะนี้ ขณะที่บริษัทเองก็ยังไม่มีความพร้อมมากพอที่จะดำเนินการได้เอง แต่การได้ที่ปรึกษาจากการสนับสนุนของ iTAP เข้ามาช่วยให้คำแนะนำทำให้รู้ขั้นตอนระเบียบวิธีการปฏิบัติที่จะนำไปสู่มาตรฐาน BRC ดังกล่าวได้เร็วขึ้น สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตขึ้นทุกปีๆละประมาณ 20-30% เฉพาะในปี 2553 นี้ ปรับลดลงเหลือ 120 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 150 ล้านบาท เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่ผันผวน ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลของสินค้าเกษตรหลายชนิดสั้นลง ปริมาณผลผลิตน้อยลง ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่บริษัทยังคงไม่ปรับเพิ่มราคากับลูกค้า ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้มากที่สุด แม้ขณะนี้จะมียอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากแต่กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร.02-270-13050-4 ต่อ 115,114

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ