ซีพีเอฟ ชี้แก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ต้องให้ภาครัฐเป็นแกนนำ

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 17, 2007 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ซีพีเอฟ
ซีพีเอฟ ชี้แก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ต้องให้ภาครัฐเป็นแกนนำหนุนนโยบายส่งออกของรัฐ เพิ่มโอกาสบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ย้ำ! พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยสู่เกษตรกรไทย
นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้มาร้องเรียน ขอให้ซีพีเอฟช่วยแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการระบาดของไข้หวัดนก ที่ผู้บริโภคได้หันมาบริโภคเนื้อสุกรกันมากขึ้น ราคาสุกรในขณะนั้นปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในปี 2547-2548 ราคาสูงสุดถึง 55 บาทต่อกิโลกรัม จูงใจให้ผู้เลี้ยงหันมาขยายการเลี้ยงสุกรกันมากขึ้น รวมถึงผู้เลี้ยงไก่บางรายก็เปลี่ยนมาเลี้ยงสุกรด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดภาวะสุกรล้นตลาด และราคาเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่ปลายปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดก็มีราคาสูงขึ้น เป็นผลให้วัตถุดิบอื่นๆ มีราคาสูงขึ้นด้วย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง กำลังซื้อภายในประเทศลดลง สวนทางกับภาวะราคาน้ำมันแพง ราคาสุกรจึงอ่อนตัวลงอีกจนทำให้ผู้เลี้ยงประสบภาวะขาดทุน
นายวีรชัย กล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นวัฎจักร เคยมีช่วงที่ราคาขึ้นสูงและลงต่ำหลายรอบ เพราะผู้เลี้ยงสุกรเน้นการเก็งกำไร ขาดการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี และระบบการเลี้ยงที่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาระดับชาติ การแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบโดยมีภาครัฐเป็นผู้นำ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ควรแบ่งแผนแก้ปัญหาออกเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งในระยะสั้น ด้วยการรณรงค์การบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคเนื้อสุกร ในรูปแบบต่างๆ ด้านการแก้ไขปัญหาระยะกลาง สามารถทำได้โดยตัดวงจรการผลิต เช่น การทำลูกหมูหันและการเร่งปลดแม่พันธุ์สุกรที่มีอายุเกิน 5 ท้องก็จะส่งผลให้อีก 5 เดือนข้างหน้า ผลผลิตสุกรที่ออกมาก็จะมีปริมาณที่ลดน้อยลง สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว คงต้องผลักดันให้ทำในคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เช่น การจดทะเบียนฟาร์มเพื่อให้ได้ทราบปริมาณการผลิตและการบริโภคที่เหมาะสม ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทางซีพีเอฟยินดีให้การสนับสนุน และผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีโอกาสที่จะเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากอัตราการบริโภคของไทยยังมีค่อนข้างต่ำเพียง 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศอื่น เช่นญี่ปุ่น มีการบริโภค 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโอกาสส่งสุกรออกต่างประเทศ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะเพิ่มการส่งออกให้ได้ 10,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี โดยมีเป้าหมายหลักที่ตลาดญี่ปุ่น รัสเซีย สหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดญี่ปุ่นถือว่ามีแนวโน้มสดใสอย่างมาก จะเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกเนื้อสุกรไปญี่ปุ่น ในไตรมาสแรก ปี 2550 มีถึง 2,033 ตัน ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่ส่งออกไป 1,644 ตัน หรือกล่าวได้ว่าสูงขึ้นถึง 23%
นายวีรชัยกล่าวด้วยว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้สร้างฟาร์มสุกรของบริษัทให้เป็นฟาร์มมาตรฐานอย่างเต็มรูปแบบที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน เป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย ก่อนจะนำมาถ่ายทอดให้กับลูกค้าและเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในโครงการส่งเสริมอาชีพของซีพีเอฟ นอกจากนี้ ฟาร์มดังกล่าวยังเป็นฟาร์มตัวอย่างเพื่อการศึกษาและเยี่ยมชมของหน่วยงานราชการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย
สำหรับเกษตรกรรายย่อยในโครงการเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟมีอยู่เพียง 3,000 ครอบครัว โดยซีพีเอฟให้การดูแลอย่างใกล้ขิด ภายใต้ระบบ Contract Farming ที่เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของภาครัฐของไทย ซึ่งได้นำระบบนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรด้านพืชและสัตว์อื่นๆด้วย
ปัจจุบัน ซีพีเอฟให้ความสำคัญในการปรับปรุงระบบการเลี้ยง ระบบการจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อย หรือพีอาร์อาร์เอส ซึ่งทำความเสียหายในธุรกิจการเลี้ยงสุกรสูงมาก ณ วันนี้ ฟาร์มรุ่นใหม่ที่ซีพีเอฟแนะนำให้ลูกค้าและเกษตรกรในโครงการการเลี้ยง จะเน้นระบบ All in -All out จึงให้ลูกค้าลงทุนฟาร์มขนาด 1,200 แม่และ 2,400 แม่ ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาโรคพีอาร์อาร์เอสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับระบบมาตรฐานฟาร์มเพื่อการส่งออก
พร้อมกันนี้ ทางซีพีเอฟได้ร่วมทุนกับ โยเนะคิว คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโรงงานแปรรูป เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการผลิตเนื้อสุกรแปรรูป และส่งออกแล้วส่วนหนึ่ง และจะขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสารนิเทศ CPF
โทร. 0-2625-7344-5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ