ฝ่ายวิจัย TMB คาด...กนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.50 ในวันที่ 18 กรกฎาคม

ข่าวทั่วไป Tuesday July 17, 2007 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ธนาคารทหารไทย หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 3.50 ในเดือนพฤษภาคม และมีคำแถลงว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มุมมองของตลาดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง เป็นมีโอกาสน้อยที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลงอีก สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นเกือบทุกระยะ โดยเฉพาะรุ่นระยะกลางและระยะยาว แต่ก็ยังมีบางกระแสที่มองว่ามีความเป็นไปได้ที่กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมวันที่ 18 กรกฎาคม นี้ เพื่อเร่งให้เกิดการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัย TMB ประเมินว่ามีโอกาสสูงที่กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.50 โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนพ.ค.50 ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แต่เริ่มมีปัจจัยบางตัวที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นบ้างของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจด้านการลงทุนที่ปรับขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งได้ตามกำหนดการได้ในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุนได้ ประกอบกับความพยายามของภาครัฐในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่และที่สำคัญ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะกนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งร้อยละ 0.50 ติดต่อกันถึง 2 ครั้ง จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.50 ซึ่ง คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระดับนี้ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนได้บ้าง นอกจากนี้ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะนี้ได้สะท้อนภาพความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีอนาคตที่ดี โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสะสมสุทธิหลังจากวันที่ 30 พ.ค.50 ถึง 61,162 ล้านบาท อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี แม้ว่าในเดือนมิ.ย. 50 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และ 0.7 ซึ่งเป็นระดับที่ทรงตัวจากเดือนก่อน ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 1.2 ตามลำดับ และยังอยู่ในเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. ที่ร้อยละ 2.0-2.5 ของปีนี้ แต่จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นในขณะนี้ โดยล่าสุดอยู่ในช่วง 70-77 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 64-69 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสสอง ประกอบกับกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ(EIA) ปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมัน(WTI) ปี 50 —51 จากเดิมที่ 64.06 และ 64.83 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลเป็น 65.56 และ 66.92 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงที่เหลือของปี สำหรับประเด็นเรื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จนทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สรอ. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โดยมีสาเหตุสำคัญ จากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งยังเป็นช่องทางเดียวที่เงินลงทุนจากต่างชาติไม่เข้าเกณฑ์การกันสำรองร้อยละ 30 หรือต้องทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินทั้งจำนวน และยังเป็นผลจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สรอ. โดยมีปัจจัยของการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดช่วยสนับสนุน ซึ่งฝ่ายวิจัย มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่มีผลในการช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้มากนัก ดังจะเห็นได้จากช่วงครึ่งแรกของปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงถึง 150 basis point หรือประมาณร้อยละ 30 แต่ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในระดับปัจจุบัน ก็ไม่ได้สูงจากประเทศอื่นในภูมิภาคมาก ยกเว้นสิงคโปร์ จากปัจจัยข้างต้น คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.50 เพื่อรอดูผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา รวมทั้งผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวนและมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ สำหรับ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะมีทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอยู่ในระดับทรงตัวต่อไป อย่างไรก็ดีอาจเห็นความเคลื่อนไหวของธนาคารบางแห่งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นบ้าง แล้วแต่สภาพคล่องและกลยุทธ์ของแต่ละธนาคาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ