สคส.เปิด “พื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่” สำหรับคนทำงาน KM Inside — Lively Learning Land

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2010 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้แห่งชาติ (สคส.) จับมือ 6 องค์กรภาคีเครือข่ายจัดงาน มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งนี้ 5 “KM Inside — Lively Learning Land” เชิญ Professor Ikujiro Nonaka กูรู KM เอเชียผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาเป็น Keynote Speaker พร้อมจัดพื้นที่การเรียนรู้ 9 โซน หวังขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมอุดมปัญญา ด้วยความรู้ที่มาจากการปฏิบัติจริง จากการทำงานและการเรียนรู้ร่วมกัน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 — 23 พฤศจิกายน 2553 สคส. ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปูนซิมเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งนี้ 5 “KM Inside — Lively Learning Land” ขึ้นที่ ชั้น 4 และ 5 บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เป้าหมายที่ สคส.จัดงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมการเรียนรู้ หรือสังคมอุดมปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่มาจากการปฏิบัติ มาจากการทำงานร่วมกัน และการเรียนรู้ร่วมกัน ประธานมูลนิธิ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการความรู้ หรือ KM เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ลงมือทำก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้นเข้าใจถูกต้อง และเข้าใจลึกยิ่งขึ้น ปัจจุบันการทำ KM ของหลายหน่วยงานยังติดอยู่กับทฤษฎี ไม่ได้มีการลงมือปฏิบัติจริงจึงทำให้ไม่เข้าใจ KM มากพอ ดังนั้นมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติในครั้งนี้ สคส.ได้เปิดพื้นที่ให้คนในสังคมทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และผลสำเร็จของกลุ่มคนทำงาน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่นำ KM ไปใช้ในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร ผ่านการปฏิบัติจริง สำหรับผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้นับว่าโชคดีมาก เพราะนอกจากจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติจริงแล้ว ยังได้รับเกียรติจากปรมาจารย์ด้าน KM ระดับโลกคือ Professor Ikujiro Nonaka ที่จะมาเป็นองค์ปาฐกให้อีกด้วย ในส่วนผู้แทนองค์กรร่วมจัดนั้น คุณสุทัศน์ ปัทมวิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้ ทุกหน่วยงานในประเทศไทยต้องใฝ่รู้และคิดค้นตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของ กฟผ. เองที่ผ่านมาพยายามพัฒนาองค์กรมาโดยตลอด ด้วยการให้คนในองค์กรเรียนรู้และรู้จักการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง สร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาความรู้จากต่างประเทศ และที่สำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศการใฝ่รู้ให้เกิดขึ้นในการทำงาน โดยนำ KM เข้ามาใช้ ซึ่งพบว่ามีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงอยากให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพราะเป็นการเผยแพร่วิธีคิด วิธีการทำงาน นำประสบการณ์จริงมาเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่อ่านจากตำราหรือทฤษฎีเหมือนที่ผ่านมา คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา SCG เล็งเห็นว่า “คน” คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด SCG จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “คน” ที่ต้องทันสมัยและใฝ่รู้อยู่เสมอ กล้าเปิดใจ กล้ารับสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงและกล้าถกเถียงอย่างมีเหตุผล และปัจจุบันพูดได้ว่า SCG เปลี่ยนเป็นองค์กรที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งผลสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “KM” ที่บริษัทนำมาใช้กับคนในองค์กร สิ่งที่ได้ค้นคือ ถ้าองค์กรทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขในทุกวันที่มาทำงาน แม้งานจะหนักเพียงใด แต่พวกเขาก็อยากทำงาน จึงอยากฝากถึงผู้ที่สนใจว่าถ้าท่านมางานนี้ท่านจะได้เรียนรู้ทุกอย่าง เป็นการแบ่งปันที่แท้จริงๆ คือแบ่งปันความรู้ แบ่งปันความเชื่อและประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงและนำมาพัฒนาองค์กรของท่าน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในองค์กรเอง หรือทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ก็ใช้ได้ผลทั้งสิ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อประเทศไทยต่อไป คุณธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้จัดการกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ทำงานร่วมกับ สคส.มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้จึงสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อร่วมจัดงานครั้งนี้ขึ้น และร่วมเรียนรู้ว่าธนาคารจะนำ KM เข้ามาใช้กับธนาคารได้อย่างไร เพราะธนาคารถือเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรและมีวิสัยทัศน์ในการทำงานว่าเราจะเป็นธนาคารที่ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคมเลือก ดังนั้นการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้กระบวนการจัดการความรู้ในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่ธนาคารจะดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรได้นั้น บุคคลากรจะต้องเป็นผู้รู้อย่างลึกซึ้ง สามารถเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้าได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการความรู้ขึ้นภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานเป็นผู้รู้ที่แท้จริง คุณสุทิน ศิรินคร ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพมาก ถ้าได้เติมเต็มด้วยเครื่องมือ “การจัดการความรู้” จะช่วยให้เยาวชนได้ฝึกฝนตนเองมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางสร้างสรรค์ ได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับครอบครัว สังคม และชุมชน ซึ่งเด็กสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือต่อยอดในสิ่งที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมประเทศชาติต่อไป มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้ใช้โอกาสในการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ เพื่อการเติมทักษะด้านการจัดการความรู้ให้กับพี่เลี้ยงขององค์กรภาคี เพื่อที่จะบุคคลากรเหล่านี้จะได้นำความรู้นี้ไปใช้ในการพัฒนาการทำงานกับเยาวชนต่อไป คุณเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สคส. ทำให้รู้ว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในองค์กรได้ และ “การจัดการความรู้” คือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด ด้าน ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า งานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ “KM Inside- Lively Learning Land” หรือ ดินแดนแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่ถูกจำลองขึ้นโดยใช้หลัก“Action Learning” คือให้เรียนรู้จากการได้มีโอกาสทดลองทำจริง ทั้งนี้เนื่องจาก KM ที่หน่วยงานส่วนใหญ่ทำกันมักเป็น KM ที่ทำไปอย่างจำใจ และจำเป็น เพื่อตอบสนองตัวชี้วัด (KPI) ของการทำงาน ไม่ได้ทำเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ Theme ในครั้งนี้จึงเน้นไปเรื่องของการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา เพื่อพยายามสื่อให้เห็นว่าการทำ KM ที่ดีต้อง “ระเบิดจากข้างใน” โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2197-8251 ,084-555-6819 หรือ www.kmi.or.th ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น ภายในงาน จะแบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 9 โซน คือ 1.หาดฝึกกระบวนท่า เป็นโซนสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่หัดขับ 2. ทะเล Tacit เป็นแหล่งฝึกฝนและค้นหาการถ่ายทอดและดักจับผ่านการทดลองปฏิบัติจริงตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ 3.ชนเผ่าจับเข่าคุย เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งกำไรเพียงอย่างเดียว (CSR) แต่ให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสังคมโลกอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน 4.เทือกเขาปันปัน พื้นที่ที่จะทำให้เข้าใจประโยชน์ของการ“ให้” 5.สะพานเชื่อมใจ คือพื้นที่เรียนรู้เทคนิคดีๆ ของผู้ที่รับบทบาทเชื่อมประสาน 6.ศาลาศิราณี สถานที่นัดพบของกูรู และผู้ที่สนใจเรื่อง KM ที่มีปัญหาคาใจต่างๆ 7.เกาะสุขสันต์ ที่แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการทำงานที่มีชีวิตชีวาว่าควรจะเป็นอย่างไร 8.ประภาคารเกื้อกูล พื้นที่แสดงเทคนิคการนำที่ทำให้คนทำงานใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่จนสามารถไปสู่เป้าหมายได้ และ 9.บึงบูรณาการ เป็นการบูรณาการเชื่อมโยงเครื่องมือ KM กับเครื่องมือการบริหารจัดการงานคุณภาพต่างๆ เข้าด้วยกันโดยไม่เป็นภาระของผู้ปฏิบัติ และยังเป็นการสร้างให้เกิดนวัตกรรมขึ้นจากการทำงาน รายละเอียดเพิ่มเติม- ทีมสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร.02-2701350-4
แท็ก เอเชีย   ESSO   สคส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ