โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลของไทย ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล สำหรับมาตรฐานการรักษาโรคเฉพาะทางโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2007 09:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล สำหรับมาตรฐานการรักษาโรคเฉพาะทางโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองตีบ จาก Joint Commission International (JCI) หลังจากที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากลในภาพรวมของทั้งองค์กร (JCI) เป็นแห่งแรกของเอเชียและไทย ในปี พ.ศ. 2545 นอกจากนั้นยังได้รับการรับรองในครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจสำหรับบริการด้านสาธารณสุขของไทยที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานระดับสากล จากองค์กรอิสระระหว่างประเทศในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลโดยเฉพาะ
การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล สำหรับมาตรฐานการรักษาพยาบาลโรคเฉพาะทางของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองตีบในครั้งนี้ ถือเป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองตีบที่โรงพยาบาลฯ ว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และข้อแนะนำในการดูแลและป้องกันสำหรับผู้ป่วยอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและได้มาตรฐานสากลที่โรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลกถือปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการก็คือผู้ป่วยนั่นเอง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความสอดคล้อง ความเหมาะสมกับผู้ใช้บริการ สร้างความพึงพอใจหลังการได้รับบริการรักษาพยาบาล และไม่เสี่ยงต่อการดูแลรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือด้อยคุณภาพ เนื่องจากโรคดังกล่าวมีความรุนแรงค่อนข้างมาก
ปัจจุบัน มีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากลนอกประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 107 แห่งใน 24 ประเทศ และมีเพียง 3 แห่งที่ได้รับการรับรองคุณภาพสำหรับมาตรฐานการรักษาโรคเฉพาะทาง
การรับรองคุณภาพ (Accreditation) เป็นกระบวนการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำมาใช้เป็นกลไกในการกระตุ้นให้เกิดการประกันคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพในสถานพยาบาลอย่างแพร่หลาย การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลเป็นกระบวนการแบบสมัครใจที่ดำเนินการโดยองค์กรกลางอิสระที่ไม่ใช่ของรัฐ ทำหน้าที่ในการเข้าไปประเมินและรับรองการดำเนินงานของสถานพยาบาลต่างๆ ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยองค์กรที่ให้การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการพัฒนาและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ Joint Commission International (JCI) ของสหรัฐอเมริกา, Canadian Council on Health Services Accreditation ของแคนาดา, Health Services Accreditation ของอังกฤษ, Australian Council on Healthcare Standards ของออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีหน่วยงานคือ สถาบันรับรองและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลของไทย (Hospital Accreditation: HA) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ และให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บริการดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยเป็นอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น
ในระยะเวลาประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยมีนโยบายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์การรักษาพยาบาลของภูมิภาค (Medical Hub of Asia) ซึ่งส่งผลให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หรือที่เราเรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) โดยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือนักท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการหยุดพักผ่อนและตัดสินใจซื้อบริการด้านสุขภาพที่ไม่ขัดกับแผนการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน เช่น บริการตรวจสุขภาพ บริการทันตกรรม และการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่มีความเสี่ยงต่ำและค่าใช้จ่ายต่ำ และอีกประเภท คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อรับบริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งโดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มหลังนี้มักจะเดินทางมาเพื่อรับบริการผ่าตัดและบริการทางการแพทย์ที่เฉพาะทางมากกว่า เช่น ศัลยกรรมเพื่อความงาม การผ่าตัดกระดูกสันหลัง หรือการผ่าตัดหัวใจ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จุดหมายปลายทางคือโรงพยาบาล และพวกเขาอาจซื้อบริการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในช่วงการพักรักษาตัว หรือก่อนเดินทางกลับประเทศ เช่น พักผ่อนตากอากาศชายทะเล ทัวร์รายวันหรือทัวร์ช้อปปิ้ง
“ในปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ ได้ให้บริการผู้ป่วยกว่า 1,000,000 ราย และในจำนวนนี้กว่า 400,000 รายเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ จาก 190 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณผู้ป่วยทั้งหมดและร้อยละ 53 ของรายได้รวมจากการบริการผู้ป่วย การที่โรงพยาบาลฯ ได้รับการรับรองคุณภาพในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพและบริการทางการแพทย์ของไทยว่ามีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติโดยตรง” นายแพทย์การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กล่าว
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก และเป็น 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของประชากรไทย ใกล้เคียงกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง ทั้งนี้โรคหัวใจที่พบมาก ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง อุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนี้เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนไทยอาศัยอยู่กับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น อาทิ มีความเครียดมากขึ้น รับประทานอาหารไขมันสูง สูบบุหรี่ มีภาวะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน จากการวิจัยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 65-75 ปี มีภาวะโรคเบาหวานร่วมด้วยร้อยละ 44.2 ภาวะความดันโลหิตสูงร้อยละ 63.9 ไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 75.4 ส่วนในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลต่อการเกิดโรคคือการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยในไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 12.6 ในขณะที่ผู้ป่วยในต่างประเทศมี อัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 4.9 เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความรุนแรงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าต่างประเทศถึง 2 เท่า
อาการบอกเหตุของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่สามารถสังเกตได้ คือ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มากดทับ จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่ อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม อาจมีอาการเหนื่อยหอบ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 20-30 นาที แต่ถ้าหากมีอาการอยู่ตลอด ก็เป็นสัญญาณวิกฤติของอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินเพื่อส่งไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรักษาภายใน 4 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
สำหรับโรคหลอดเลือดในสมองตีบนั้น จัดอยู่ในกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบ แตก และอุดตัน โดยที่หลอดเลือดสมองตีบเป็นแบบที่พบได้มากที่สุด (ร้อยละ 80-85) หลอดเลือดที่ตีบเกิดจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีเกล็ดเลือด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเลือด มาสะสมตามผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง ถ้าเป็นมากก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง และเกิดความเสียหายต่อเซลสมองบริเวณนั้นๆ อาการบอกเหตุได้แก่ แขนขาอ่อนแรง หรือชาซีกใดซีกหนึ่ง (บางกรณีอาจเป็น ทั้งสองซีก) ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรือสำลัก พูดไม่ได้ หรือฟังไม่รู้เรื่อง (มีปัญหาด้านความเข้าใจภาษา) เวียนศีรษะมาก เดินเซแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มองไม่เห็นซีกใดซีกหนึ่ง อาการที่เกิดอาจเป็นค่อนข้างเร็ว กระทันหัน ภายในเวลาไม่กี่นาที หรืออาจเป็นหลังตื่นนอน โดยที่ก่อนเข้านอนยังปกติอยู่ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรต้องรีบเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิต
เห็นได้ชัดว่า ทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้นมีความรุนแรงของโรคมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิต รวมทั้งปัจจัยด้านระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนได้รับการรักษานั้นมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตอย่างมาก
“โรงพยาบาลชั้นนำของไทยหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ต่างมีขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในกรณีวิกฤติของทั้งสองโรคนี้ได้ แต่การได้รับการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรคในระดับสากลนั้น นับว่าเป็นการรับรองคุณภาพในอีกระดับหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยหรือครอบครัวว่าจะได้รับการดูแลตามหลักการและมาตรฐานที่กำหนดอย่างถูกต้องเหมาะสม และต่อเนื่อง ทั้งก่อน ระหว่างและหลังจากการรักษา ตลอดจนการป้องกันเพื่อให้โอกาสการเกิดซ้ำน้อยที่สุด” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อภิชาติ ศิวยาธร ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการทางการแพทย์กล่าวสรุป
รายนามคณะแพทย์ผู้แถลงข่าวของโรงพยาบาล ฯ
- นายแพทย์การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์
- ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อภิชาติ ศิวยาธร ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการทางการแพทย์
- นายแพทย์วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ผู้อำนวยการโครงการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างเฉียบพลัน
- นายแพทย์ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ ผู้อำนวยการโครงการโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร
สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาลสากล
Joint Commission International (JCI) เป็นหน่วยงานอิสระระหว่างประเทศภายใต้ JCAHO ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลกว่า 18,000 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา JCI ได้ให้การรับรองโรงพยาบาลชั้นนำจำนวน 107 แห่งใน 24 ประเทศทั่วโลก
www.jointcommissioninternational.com
สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลไทย (Hospital Accreditation - HA) ให้รับรองคุณภาพโรงพยาบาลของประเทศไทย ตามมาตรฐานแคนาดาและสหรัฐอเมริกา www.ha.or.th
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำด้านการบริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร และเป็นศูนย์รับย้ายผู้ป่วยระดับภูมิภาค ให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 554 เตียง ศูนย์แพทย์เฉพาะทาง 34 ศูนย์ พร้อมแพทย์กว่า 900 ท่านและพยาบาลอีกกว่า 800 คน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการประกาศรับรองคุณภาพโรงพยาบาลไทย (Hospital Accreditation - HA) และยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล (JCI) ตามมาตรฐานการรับรองของสหรัฐอเมริกา และเป็นแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองฯ เป็นครั้งที่สอง ให้บริการรักษาผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลกในแต่ละปี www.bumrungrad.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
โทร 0 2667 2212 e-mail: pr@bumrungrad.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ