เตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ครั้งที่ 1 "ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ-พระนคร"

ข่าวทั่วไป Thursday November 4, 2010 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--หอศิลป์ตาดู เมื่อวิวัฒนาการของ “เมือง” ในสังคมไทยแต่เดิมถูกเปลี่ยนสถานะและบริบทบางอย่างให้ก้าวไปตามกระแสโลกที่เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว “เมือง” ไทยในวันนี้จึงมีรูปแบบใหม่ที่จำเป็นต้องไหลไปกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่ม “เมือง” เล็กๆ แห่งหนึ่ง ณ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอันมีการสัญจรทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ณ วันนี้ โครงสร้างของระบบสาธารณูปโภคได้เข้ามาแทนที่ เกิดการถมคลอง การสร้างถนน และเกิดเส้นทางการค้าใหม่ๆ ที่ต่างพากันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ “เมือง” ได้บริโภคกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และแน่นอนที่ว่าคนส่วนมากมักจะวิ่งเข้าหาความเจริญเพื่อตอบสนองการอยู่รอดของตน ที่ผ่านมาได้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคน “นอกเมือง” เข้ามาในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบอาชีพที่มีรองรับมากกว่า ความหนาแน่นและการกระจุกตัวขจรขจายไปทุกแห่งหน และบางแห่งได้แปรเปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนแออัดอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ผลกระทบที่ตามมาอีกระลอกหนึ่งซึ่งส่งผลต่อคนพื้นที่เดิมคือการจำเป็นต้องย้ายไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่นๆ เกิดสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาเหงาหงอย ระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแต่เดิมเริ่มจางหายกลายเป็นระบบต่างคนต่างอยู่ ขาดกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ละเลยการดูแลและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าและความงามที่มีมาแต่เดิมให้คงอยู่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้สร้างความร่วมมือกับ “ชุมชน” ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตพระนคร ประกอบด้วยชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ (เขตพระนคร) ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ ชุมชนสิตาราม ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ และชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย) ในการสร้างกระบวนการทำงานที่มีศูนย์กลางเป็นคนในชุมชน และนี่คือที่มาของงาน “เตร่ตรอก ลัดรั้วบ้าน ตำนานป้อมปราบ-พระนคร” โดยทำพิธีเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูชุมชนย่านประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งโครงการเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลและเอกชน กลุ่มศิลปินและกลุ่มช่างภาพ เมื่องานใหญ่ผ่านไป แต่กลิ่นไอของความเป็น “ชุมชน” ยังลอยล่องไม่จางหายไปไหน ซึ่งในแต่ละชุมชนล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวและกิจกรรมที่น่าสนใจ บ้างซ่อนไว้ บ้างอยากเผย ทางทีมงานผู้ร่วมจัดโครงการจึงอยากชวนท่านเข้าร่วมเตร็ดเตร่ในรอยตรอกวัฒนธรรมจากชุมชนทั้ง 6 แห่งเพื่อให้เราได้รู้จักกับ “ชุมชน” ที่เล่นซ่อนแอบกับคนเมืองยุคใหม่ได้อย่างน่าฉงน พบเจอกันได้ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 ณ ลานคนเมือง แต่หากท่านใดสะดวกเพียงเข้าชมนิทรรศการศิลปะและภาพถ่าย พร้อมพูดคุยกันตามประสาคนในแวดวง ก็สามารถพบกันได้ ณ ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน เวลา 15.00 น. ในวันเดียวกัน ตารางแสดงสิ่งที่น่าสนใจและรายชื่องานศิลปะของแต่ละชุมชน ชุมชน สิ่งที่น่าสนใจ ผลงานศิลปินและช่างภาพที่เข้าร่วมแสดง วังกรมพระสมมตอมรพันธ์ วังเก่าของโอรสในรัชกาลที่ 4 / ย่านค้าสังฆภัณฑ์/ ชุมชนอาชีพเย็บผ้าเหลือง จีวร และสบง / บ้านของพระยาประสานดุริยศัพท์ (ครูระนาดของหลวงประดิษฐไพเราะ) และสะพานพระสมมตอมรมารคที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน ผลงานศิลปะร่วมสมัยประเภทการจัดวางและภาพถ่ายโดย วรรณพร แสนคำ และศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิทพร้อมผลงานภาพถ่ายโดย สุพจน์ อภัยสุวรรณ บ้านบาตร แหล่งทำบาตรมือแหล่งสุดท้ายในเมืองกรุง / ศาลพ่อปู่ครูบาตร / คณะรำวงบ้านบาตร (คณะรำวงชื่อดังในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) / สำนักดนตรีของหลวงประดิษฐไพเราะ (จุดกำเนิดแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องโหมโรง) ผลงานศิลปะร่วมสมัยประเภทสื่อผสม ภาพถ่าย และสีน้ำมันโดยชัยรัตน์ มงคลนัฎ,ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิทและกัมปนาท สังข์สรพร้อมผลงานภาพถ่ายโดย เรืองรอง รุ่งรัศมี วัดสระเกศ ภูเขาทอง / พิพิธภัณฑ์ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว / เมรุปูน โลงศพฝีมือแบบช่างจากเซี่ยงไฮ้ / ลานเผาศพราษฎรและนักโทษประหารในรัชการที่5 (ที่มาของคำว่าแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์) / วอเตอร์เวิก (การประปาในสมัยรัชการที่5) / สะพานร้องไห้ / วงลิเกยอดนิยมในอดีตนาม “วิกเมรุปูน” ผลงานศิลปะร่วมสมัยประเภทวิดีโอ ภาพถ่าย และสีน้ำมันโดยวรรณพร แสนคำ,ชัยวัช เวียนสันเทียะ,ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิทและกัมปนาท สังข์สรพร้อมผลงานภาพถ่ายโดย เรืองรอง รุ่งรัศมี สิตาราม วังวรดิศ (ที่ประทับของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลโดยทายาท) / ย่านเก่าชุมชนเลี้ยงหมูชาวจีนกวางตุ้ง / คณะละครดำรงศิลป์ / คณะละครทองหล่อ / ค่ายมวยอันเลื่องชื่อนาม “แสงมรกต” พบกับหลวงวิศาล ครูมวยไชยาคนสำคัญ ผลงานภาพถ่ายโดย สุพจน์ อภัยสุวรรณ จักรพรรดิพงษ์ โรงพิมพ์เก่าที่ยังคงเปิดอยู่ / สำนักพิมพ์ ร้านค้าส่งหนังสือ นิตยสาร และการ์ตูน/ สุขศาลา / คลินิกเอ็กซเรย์เอกชนแห่งแรกของประเทศไทย / โรงงานวิเศษนิยม / แหล่งขาย “กล้วยทอด” อันเลื่องชื่อ / ศาลเจ้าแม่ทับทิม / บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี / ร้านน้ำชาเก่าแก่หน่ำเฮงหลี (ครั่งหนึ่งเคยเป็นแหล่งพบปะพูดคุยของนักการเมืองคนสำคัญ เช่น มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ประสิทธิ์ กาณจนวัฒน์, บุญชู โรจนสถียร ผลงานศิลปะร่วมสมัยประเภทภาพถ่าย โดยนภดล โชตะศิริ,ไพฑูรย์ จงทอง,อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณและอลงกรณ์ ศรีประเสริฐพร้อมผลงานภาพถ่ายโดย สมัชชา อภัยสุวรรณ วัดสุนทรธรรมทาน สนามเลี้ยงกระบือเก่า / กลุ่มละครชาตรี / แหล่งรวมศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ทั้งโขน ละคร นาฏศิลป์ ครูดนตรี และศิลปินนักแสดง/ บ้านนราศิลป์ (แหล่งรับปักและทำชุดละครโขน, คณะนาฏศิลป์นราศิลป์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยร.6)/ วัดแคนางเลิ้งอันเป็นที่เก็บอัฐิของนักแสดงชื่อดังในอดีตนาม “มิตร ชัยบัญชา”/ ตลาดนางเลิ้ง และโรงหนังเฉลิมธานี ซึ่งเคยเป็นโรงหนังที่เฟื่องฟูมากในสมัยก่อน ผลงานภาพถ่ายโดย สมัชชา อภัยสุวรรณ
แท็ก ตำนาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ