กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ผ่านระยะเวลากว่า 5 เดือนสำหรับกระบวนการเฟ้นหาสุดยอดผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2553 หรือ EcoDesign 2010 ซึ่งเครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแม่งานใหญ่ โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อที่ว่า “ลดโลกร้อนด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ล่าสุดมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 32 ผลงาน แบ่งออกเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแนวคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแนวคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบอิสระ และประชาชนทั่วไป ใน 6 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนี่คือ 6 ตัวอย่างต้นแบบกระบวนการคิดจาก 32 ผลงาน ที่ผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศประจำปีนี้
TWIST BOX ผลงานของ วัสพล สิงห์สังข์ ที่ส่งเข้าประกวดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นมีแรงบันดาลใจที่ต้องการจุดประกายให้คนทั่วไปหันมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนการทิ้งขยะ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบนี้เมื่ออยู่ในถังขยะจะกินพื้นที่น้อยลงส่งผลให้การขนส่งลำเลียงขยะต่อครั้งมีพื้นที่ใส่ปริมาณขยะได้มากขึ้น ขณะที่จำนวนเที่ยวของการขนส่งลดลง ช่วยประหยัดน้ำมัน และที่สำคัญบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ยังสามารถนำไปแปรรูปหรือไปรีไซเคิลให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีก อย่างเช่น ไม้เทียมฯลฯ การลดขนาดของบรรจุภัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานในการออกแบบและเมื่อคนทั่วไป มีความเข้าใจในเรื่องของ Ecodesign มากขึ้นก็จะนำไปสู่การต่อยอดทางความคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ต่อไป
Eco Batt—Service เป็นหนึ่งผลงานในกลุ่มการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง 3 หนุ่ม ธีรวัส วงศ์จิตตาโภค ไกรนันท์ ซีตันติเวช และธิภัทร วรรธอนันตชัย จากทีม Sustainability ส่งเข้าร่วมชิงชัย โดยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากปัญหาในการทิ้งหรือกำจัดถ่านไฟฉายที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างถูกวิธี พวกเขาจึงต่อยอดด้วยแนวคิดการให้บริการถ่านไฟฉายพร้อมใช้โดยนำถ่านไฟฉายแบบชาร์ตไฟใหม่ได้มาให้บริการ โดยถ่านดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าถ่านอัลคาไลน์เมื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้พลังงานมากๆ ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาในการจัดเก็บและกำจัดซากถ่านไฟฉายเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วได้ อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง และลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตถ่านไฟฉายแบบอัลคาไลน์ได้เป็นจำนวนมาก
GENYO ผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงานผลงานการออกแบบของ นฤชา ศรีวิเชียร ที่มีแรงบันดาลใจมาจากของเล่นรูปแบบเดิม ๆ อย่าง YoYo โดยนำมาพัฒนาและสอดแทรกเรื่องของพลังงานไว้ในตัว ความโดดเด่นของ Genyo คือการสร้างพลังงานขึ้นได้ด้วยตัวเองขณะที่ใช้งาน มีรูปแบบเสมือนของเล่น Gadget ที่สามารถพกพาได้ และสามารถเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานให้กับเด็กได้อย่างง่ายๆ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อไปถึงการรวมพลังงานเพื่อใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย
ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร CURL COLLECTION เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เข้าตากรรมการด้วยความโดดเด่นในการเลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม้ไผ่มาใช้งานอย่างคุ้มค่า โดยนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีความสวยงามทันสมัย ซึ่ง ธเนศ อรุณถาวรวงศ์ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า “ไม้ไผ่” ใช้เวลาในการปลูกเพียง 3 ปี ก็จะได้เนื้อไม้ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในหลายรูปแบบ ซึ่งการใช้ไม่ไผ่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนไม้ปลูกหมุนเวียน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีความสามารถในการผลิตก๊าซออกซิเจนได้สูงมากกว่าไม้ยืนต้นทั่วไปถึง 2 เท่า ในการออกแบบจะมีลักษณะเป็นแบบชิ้นส่วนโมดูล เพื่อให้ง่ายต่อการผลิตและการซ่อมแซม อีกทั้งยังช่วยในการประหยัดพลังงานในการดัดขึ้นรูปและการขนส่งอีกด้วย
หลังคาอีโค่บอร์ดจากกล่องนม ผลงานของ ตรีวิจักษณ์ ยิบยินธรรม วัลทานี กิมลือ และ วิชชุดา เมืองขุนทด ที่ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็สร้างสีสันให้กับการประกวดครั้งนี้ได้อยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากความสวยงามและสีสันที่ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แล้ว “หลังคาอีโค่บอร์ด” นี้ยังตอบโจทย์ในเรื่องของ EcoDesign ได้อย่างชัดเจน เพราะวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเป็นหลังคานั้น ล้วนทำมาจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลที่ไม่ต้องสารเคมีใดๆ เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต ที่สำคัญยังมีความคงทน แข็งแรงไม่แพ้วัสดุอื่น ๆ แถมยังช่วยประหยัดพลังงานเนื่องจากหลังคาชนิดนี้ไม่ดูดซับความร้อน ซึ่งข้อมูลจากศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด กล่าวไว้ว่า กล่องเครื่องดื่ม1 ตัน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผากรือฝังกลบได้มากถึง 900 กิโลกรัมเ ลยทีเดียว
ปิดท้ายที่การบริการทั่วไปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สถาปนิกหนุ่มอย่าง พชร จำปาเงิน ได้ส่งผลงาน RENTAL SOLAR CELL เข้าประกวดด้วยเห็นว่า การทำให้โซล่าเซลล์มีการใช้งานได้อย่างแพร่หลายจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการใช้และทำให้เป็นทรัพย์สินที่ขายต่อได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น ซึ่งการสร้างฟังก์ชั่นใหม่ในรูปแบบของหน้าต่างทำให้สามารถถอดเปลี่ยนกระจกได้เมื่อไม่ต้องการใช้งาน ขณะที่กรอบหน้าต่างก็สามารถนำมาใช้เป็นที่ร้อยสายไฟ เพื่อเชื่อมต่อระบบอีกทั้งยังสามารถหมุนปรับองศาให้ตั้งฉากเพื่อรับแสงจากดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย นอกจากนี้การสร้างจุดONE STOP SERVICE สำหรับ ซื้อ- ขาย- เช่า และซ่อมบำรุงโซล่าเซลล์ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ และหากแผ่นโซล่าเซลล์กลายเป็นสินทรัพย์ทางสังคมรูปแบบการใช้งานก็จะถูกประยุกต์ไปในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
ทั้ง 6 ผลงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นแบบกระบวนการคิดที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและพร้อมที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน จะมีการจัดแสดงผลงานทั้ง 32 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และเปิดให้ผู้สนใจร่วมโหวตให้กับผลงานที่ชื่นชอบก่อนจะมีพิธีการตัดสินและมอบรางวัลในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 20 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ บริเวณลานกิจกรรมด้านหน้าสยามดิสคัพเวอรี่