พบผู้บริหารวัยทอง ตัดสินใจช้า ทำงานขาดประสิทธิภาพ 10 โรคร้ายรุม เหตุพร่องฮอร์โมน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2005 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--ชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “สมองใส วัยทอง” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่ากลุ่มคนวัยทองทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะคนทำงานในระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ช่วงอายุตั้งแต่ 40-60 ปี มีความเครียดสะสม อารมณ์ สมาธิ ความจำและการตัดสินใจล่าช้าผิดพลาด มีปัญหากับลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธภาพ และเกิดปัญหาครอบครัวตามมา สาเหตุสำคัญมาจากภาวะพร่องฮอร์โมน โดยเฉพาะชายวัยทองอาจเสี่ยง 10 โรครุมเร้า
วัยทองเป็นวัยหนึ่งของชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ รวมทั้งการปรับตัวเข้าสังคม เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย เกิดได้ทั้งในหญิงและชายวัยทอง ในผู้หญิงเรียกกันว่าเป็นช่วง “เลือดจะไปลมจะมา” ในผู้ชายเรียกว่าพาดาม (PADAM) หรือ ชายวัยทอง” ซึ่งจะเกิดอาการอารมณ์ปรวนแปร รู้สึกซึมเศร้า เหงา ไม่สนุกสนานรื่นเริง มองโลกในแง่ร้าย โกรธฉุนเฉียวง่าย อะไรที่เคยทนได้ก็ทนไม่ได้ นอนไม่หลับหรือนอนแล้วตื่นง่าย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ ไม่ว่าจะในแง่การปฏิบัติงานของตนเอง การสั่งการ การตัดสินใจ เป็นปัญหาที่พบมากในกลุ่มเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปัญหาครอบครัวตามมาด้วย เพราะว่าเมื่อเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวทำอะไรไม่ได้ดังใจแล้ว อาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสามีและภรรยา ถ้าเป็นคนโสดอาจจะมีปฏิกิริยากับคนรอบข้าง ทำให้เกิดภาวะเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจสะสมอย่างต่อเนื่อง” น.พ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ หากคนวัยทองมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของชีวิต รู้ว่าผู้หญิงในวัยนี้จะมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง เพราะรังไข่ทำงานน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นรังไข่จะหยุดทำงานและทำให้หมดฮอร์โมนเพศหญิงไป จนทำให้เกิดภาวะต่างๆ ตามมา ส่วนฝ่ายชายแม้ว่าการผลิตฮอร์โมนจะไม่หมดไปเลยเหมือนผู้หญิง แต่หลังจากอายุ 40 ปี ไปแล้ว ระดับฮอร์โมนเพศชายจะผลิตน้อยลงทุกวันๆ และหากฮอร์โมนเพศชายต่ำกว่าค่าสูงสุดที่ควรจะเป็นเกิน 10 % บางคนอาจ 20 % ก็จะเกิดอาการต่างๆ เช่นเดียวกับในผู้หญิง แต่โดยทั่วไปแล้วในสังคมเรามักจะเข้าใจว่าผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นวัยทองและผู้ชายไม่เป็น ผู้ชายจึงไม่ไปพบแพทย์ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายนั้นจะสั้นกว่าผู้หญิง 5 ปี โดยผู้ชายจะเสียชีวิตเร็วกว่าด้วยโรคต่างๆ ที่เป็นผลเนื่องมาจากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
โรคต่างๆ ที่เกิดจากการพร่องฮอร์โมนเพศชายคือโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สมองเสื่อม ความจำเสื่อม เครียด นอนไม่หลับ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคต่อมลูกหมาก และโรคกระดูกพรุน ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ สามารถป้องกันได้หรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคก่อนซึ่งทำให้ต้องกลายเป็นคนป่วยและต้องกินยาเป็นประจำสม่ำเสมอ
เพียงแต่คนวัยทองทำความเข้าใจในระบบต่างๆ ของร่างกายแล้วทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งการเสริมหรือเติมแต่งให้อยู่ในสมรรถภาพที่ดีโดยรับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดี ส่งผลดีต่อการตัดสินใจ การปฏิบัติงาน สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง และคนในครอบครัวก็จะดีขึ้น
“ผมมีคนไข้ที่เป็นคนทำงานในระดับผู้บริหารมาหา เนื่องจากพบว่าช่วงนี้ตัวเองไม่กล้าตัดสินใจ หรือตกใจในการตัดสินใจบางอย่าง ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็นแบบนี้ กลัวตัดสินใจผิดพลาด จากที่เคยเป็นคนกล้าตัดสินใจ ขณะเดียวกันร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลง นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิดโมโหง่าย ลูกน้องเข้าหน้าไม่ติด เมื่อคนกลุ่มนี้เริ่มมีความเข้าใจก็มาปรึกษา เราก็จะเริ่มทำการตรวจเช็คร่างกายทั่วไป ถ้าตรวจแล้วไม่พบการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเช็คระดับฮอร์โมนเพศ ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้ระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำเกินกว่า 20 % ของค่าที่ควรเป็นแทบทั้งนั้น และเมื่อตรวจแล้วไม่มีข้อห้ามที่เราจะใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน คือไม่มีต่อมลูกหมากโต เจาะเลือดดูว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเข้มข้นในเลือดเป็นปกติ ตรวจความดันโลหิตในเกณฑ์ต่างๆ เป็นปกติ หมอก็จะสามารถให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมเข้าไปในส่วนที่บกพร่องได้
ปัจจุบันนี้องค์กรอนามัยโลกได้รับรองฮอร์โมนเพศชายชนิดธรรมชาติที่เราเรียกว่าเทสโทสเตอโรน อันเดคาโนเอท ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดรับประทานที่เข้าสู่กระแสเลือดโดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับ แล้วก็ออกฤทธิ์ช่วยเสริมแทนฮอร์โมนเพศชายที่ขาดไป คนไข้กลุ่มนี้เมื่อได้รับเข้าไปแล้ว ทุกอย่างที่เคยเสียไปก็จะกลับมากระฉับกระเฉง แข็งแรง อารมณ์ดี สดใสได้” นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
ประธานชมรมคุณภาพชีวิตวัยทอง ให้คำแนะนำว่า คนรอบข้างควรเข้าใจธรรมชาติของคนวัยทองที่หงุดหงิด ฉุนเฉียว เครียด บางคนบางคราวก็ไม่รู้ตัว ซึ่งผู้หญิงกับผู้ชายจะมีปฏิกิริยาแสดงอารมณ์เครียดต่างกัน คือ “เมื่อเครียดผู้ชายจะเข้าถ้ำ ผู้หญิงจะพร่ำพรรณนา” เพราะเวลาผู้ชายเครียดจะนั่งซึม หงอย ไม่พูดไม่จา คิดอะไรในทางที่ไม่ดี ส่วนผู้หญิงเวลาเครียดจะพูดตลอดเวลา เมื่อผู้หญิงเครียดแล้วพูดมากๆ แต่ผู้ชายก็ไม่อยากพูด ก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน
วิธีช่วยคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้ชายวัยทอง คนรอบข้างสามารถสังเกตได้จากอาการที่เริ่มเปลี่ยนไป จากไม่เคยหงุดหงิด ก็หงุดหงิด เคยพูดเล่นด้วยได้ ก็ไม่ได้ เริ่มทำงานไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ถ้าเห็นอาการเหล่านี้ อาจลองชักจูงว่าให้ไปตรวจสุขภาพเพื่อให้คุณหมอตรวจเช็คเลือด ดูระดับฮอร์โมนที่ขาด หรือสามารถทดสอบด้วยตนเองได้ตามร้านขายยาเพื่อทดสอบดูว่าอยู่ในภาวะชายพร่องฮอร์โมนหรือไม่ ถ้าผู้ชายกลุ่มนี้มีความเข้าใจและยอมรับก็จะไปรักษากับแพทย์ต่อ หากยังไม่ยอมรับ คนใกล้ชิดต้องให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้คำพูดทางบวกด้วยวิธีนุ่มนวลในเชิงห่วงใย จะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับคนวัยทองได้--จบ--

แท็ก วัยทอง   สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ