มาตรการภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday November 10, 2010 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. การบริจาคเงินหรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1.1 บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาค ซึ่งมิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้ตามที่บริจาคจริง ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ 1.2 บริษัท / ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นการบริจาคผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาค ซึ่งมิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากรสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ 1.3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งบุคคลธรรมดา / นิติบุคคลที่นำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นการบริจาคผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาค ซึ่งมิใช่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ให้ถือเป็นการขาย ทั้งนี้รายละเอียดหลักเกณฑ์การบริจาคเงินหรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th 2. การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยตรง 2.1 กรณีบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการ (มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากร) ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยโดยได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นจำนวนเท่าจำนวนความเสียหายที่ได้รับ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี 2553 ที่ต้องยื่นรายการในปี 2554 2.2 กรณีบริษัท / ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและได้รับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากการประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าว เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาแล้ว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2553 2.3 บุคคลธรรมดาและบริษัท / ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัย ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับจากภาครัฐ 2.4 บุคคลธรรมดาและบริษัท / ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัย ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับการบริจาค การช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายนอกเหนือจากเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ 3. การขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี กำหนดให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ที่จะต้องยื่นในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม โดยให้นำไปยื่นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “การเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าครั้งที่ผ่านๆมา กระทรวงการคลังจึงได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยหลายมาตรการ ทั้งมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายให้ครอบคลุมมากที่สุด” นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการด้านภาษีที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จะช่วยบรรเทาภาระให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจให้การบริจาคเงินและทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถบริจาคผ่านเอกชนได้ โดยจะเป็นการเสริมกับมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันกรณีการบริจาคผ่านส่วนราชการซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่แล้ว ” สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร โทร. 0 2272 8634

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ