นักวิจัยไทยพบเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ติดต่อจากลิงสู่คน

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2010 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ศ.นพ.ดร.สมชาย จงวุฒิเวศย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง “ระบาดวิทยาเชิงบูรณาการเพื่อเป็นแนวทางการควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศไทย” เพื่อศึกษาแนวทางในการควบคุมโรคมาลาเรีย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าโรคมาลาเรียในประเทศไทยนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อาศัยอยู่ตามชายแดนของประเทศ จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกิดจากเชื้อที่แตกต่างกัน 4 ชนิด ได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ พลาสโมเดียม มาลาเรียอิ และพลาสโมเดียม โอวาเล่ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ศ.นพ.ดร. สมชาย จงวุฒิเวศย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดที่ ๕ คือ พลาสโมเดียม โนวลิไซ (Plasmodium knowlesi) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่พบในลิงแสม เชื้อโรคตัวนี้มีความคล้ายคลึงกันกับเชื้อโรคตัวเก่าทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๒ พบว่าจากการตรวจเชื้อมาลาเรียชนิดที่ ๕ ในฟิล์มเลือดมีความคล้ายคลึงกับ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม และพลาสโมเดียม มาลาเรียอิ เป็นอย่างมากทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค จึงตั้งวัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้ว่า ต้องการให้เกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเชื้อมาลาเรียชนิดนี้ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย ในเชิงบูรณาการทางด้านระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคมาลาเรียที่ถูกต้องและมีความเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจรซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคอันประกอบด้วย ๑.) ประชากรที่มีเชื้อมาลาเรียในร่างกาย ๒.) ชนิดและคุณลักษณะของเชื้อมาลาเรีย ๓.) ยุงพาหะนำโรค และ ๔.) สภาวะของรังโรคในธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อมาลาเรียจากลิงที่สามารถติดต่อสู่คน ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดที่ ๕ มีอายุระหว่าง ๔ ถึง ๕๙ ปี และพบมากในพื้นที่ จังหวัดตาก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส แต่อย่างไรก็ตามไม่พบผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดนี้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ในส่วนของการแพร่กระจายเชื้อมาลาเรียพบว่ามียุงก้นปล่องเป็นพาหนะนำโรคโดยมีลิงกัง ลิงแสมและค่างดำ เป็นรังโรค จากการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโดยการตรวจ DNA ของเชื้อมาลาเรียที่พบในลิงและมีศักยภาพในการก่อโรคในคนแล้ว ผู้วิจัยยังพบผลสำเร็จในการตรวจหา DNA ของเชื้อมาลาเรียชนิดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำโดยใช้ตัวอย่างน้ำลายและปัสสาวะของผู้ป่วยว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจหาเชื้อมาลาเรียจากฟิล์มเลือดอีกด้วย และในขณะนี้ผลการวิจัยกำลังอยู่ในช่วงของการจดสิทธิบัตร นับว่าการค้นพบครั้งนี้นับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการวินิจฉัยโรคมาลาเรียในกรณีที่การเจาะเลือดของผู้ป่วยเป็นอุปสรรคในการตรวจรักษาหรือในการวินิจฉัยโรคได้อีกทางหนึ่ง สถานที่ติดต่อ : ศ.นพ.ดร.สมชาย จงวุฒิเวศย์ E-mail : p.chaturong@gmail.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025799775 ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ