กิจกรรมรณรงค์วันปอดบวมโลก 2010

ข่าวทั่วไป Monday November 15, 2010 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ 3 องค์กรแพทย์ ผนึกกำลังรณรงค์วันปอดบวมโลก 2010รวมพลังปกป้องเด็กไทยพ้นภัยปอดบวม - ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุแต่ละปีมีเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั้งโลกเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งปอดบวมในเด็กทั่วโลกยังพุ่งสูงคิดเป็นสาเหตุการตายมากถึงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 ล้านคน - ตั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (UN Millennium Development Goals) มุ่งการลดอัตราการตายของเด็กเล็กทั่วโลกลง 2 ใน 3 ภายในปี 2558 (หรือ 2015) - พบเด็กไทยป่วยเป็นโรคปอดบวมสูงถึงปีละกว่า 6 หมื่นราย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จับมือสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์เนื่องใน “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) 12 พ.ย. 2553 ปลุกกระแสตื่นตัวป้องกันภัยร้ายโรคปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคนและรณรงค์ให้ความรู้ และวิธีการป้องกันโรคปอดบวมในฤดูหนาวที่กำลังมาถึงซึ่งเป็นฤดูที่โรคปอดบวมระบาดหนัก พร้อมร่วมเป็นหนึ่งแรงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในเด็กไทย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคปอดบวมยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะรณรงค์ป้องกันโรคปอดบวมมาหลายปีติดต่อกัน แต่อุบัติการณ์การตายจากโรคดังกล่าวยังไม่ลดลงจนเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในเด็กเล็ก ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี หรือทุกๆ 15 วินาที จะมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม 1 คน ดังนั้นองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day Coalition) รณรงค์ “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) ขึ้นเป็นปีที่ 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคปอดบวมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเร่งลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตของเด็กเล็กจากโรคปอดบวมที่เกิดขึ้นทุกๆ ปีอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งการรณรงค์ในต่างประเทศก็จะมีรูปแบบแตกต่างกันไป เช่น การเดินขบวนรณรงค์ การจัดสัมมนาให้ความรู้ การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปอดบวม เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ในการรณรงค์วันปอดบวมโลกดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ (UN Millennium Development Goals) ในการมุ่งการลดอัตราการตายของเด็กเล็กทั่วโลกลง 2 ใน 3 ภายในปี 2558 (หรือ 2015) โดยจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า แต่ละปีมีเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งสาเหตุการตายจากโรคปอดบวมมีมากถึงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 ล้านคน ดังนั้นหากเราร่วมกันลดอุบัติการณ์ของโรคปอดบวมลงได้ ก็จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาแห่งสหัสวรรษบรรลุตามเป้าหมายได้ รวมทั้งลดการสูญเสียงบประมาณในการรักษามากมายมหาศาลทีเดียว พบเด็กไทยป่วยเป็นปอดบวมสูงปีละกว่า 60,000 คน ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2552 มีเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวมทั้งสิ้น 62,825 คน เสียชีวิต 60 คน สำหรับในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม — กรกฎาคม พบเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวมแล้ว 32,925 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 17 คน ถึงแม้ว่าตัวเลขการเสียชีวิตจะไม่มากแต่ย่อมเป็นการดีกว่าหากเราสามารถป้องกันลูกๆ หลานๆ ของเราไม่ให้เสียชีวิตจากโรคปอดบวมเลย ที่สำคัญในช่วงแรกเกิด — 3 ปีแรก เป็นช่วงที่การต่อเนื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นหากเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาในช่วงดังกล่าว จะทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กได้ และอาจจะส่งผลจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ ดังนั้นเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกคนจึงเป็นกลุ่มสี่ยงของโรคปอดบวม แม้ว่าจะเป็นเด็กที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงก็ตาม และเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และเด็กที่อยู่รวมตัวกันหนาแน่น เช่น เด็กในโรงเรียนอนุบาล และสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ควบคู่ไปกับป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องใส่ใจ โรคปอดบวม ภัยเด็กเล็กที่ต้องระวังในหน้าหนาว ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ระบาดหนักในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว โดยเฉพาะในพื้นที่หรือสถานที่ท่องเที่ยวทีมีอากาศหนาวจัด เช่น ในภาคเหนือ หรือภาคอีสาน โดยเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตได้ โรคปอดบวมเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือเชื้อไวรัส แต่โรคจะหายได้จากการที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานมากำจัดเชื้อไวรัสได้เอง ส่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น พบว่าโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสพบมากที่สุด เพราะเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา จึงมีโอกาสที่เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมอง และกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น อาการของโรคปอดบวมในเด็ก เช่น มีไข้ ไอ หายใจถี่และหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ถ้าพบว่าเด็กมีอาการ ไข้ ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว (ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที และในเด็กเล็กที่มากกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง หากพ่อแม่นิ่งนอนใจ ปล่อยทิ้งไว้นานเด็กอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มีอาการรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่ทันการ ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ทารกดื่มนมแม่ เพราะนมแม่ถือเป็นวัคซีนเข็มแรกที่สำคัญของลูกน้อย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และสอนให้เด็กรู้จักรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ โดยเฉพาะการล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ รวมทั้งการใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ ตลอดจนในปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีที่ช่วยป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส และโรคติดเชื้อรุนแรงอื่นๆ แล้ว เช่น โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ และพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนด้วยตนเอง เนื่องจากวัคซีนดังกล่าว ยังเป็นวัคซีนทางเลือกในประเทศไทย สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บุษบา สุขบัติ, พิธิมา รัตนรังสิกุล โทร. 0-2718-3800 ต่อ 141 / 142

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ