ปภ. เตือนช่วงเทศกาลลอยกระทง เด็กเสี่ยงจมน้ำสูง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 17, 2010 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ปกครองพาเด็กไปลอยกระทงในสถานที่จัดงาน ลอยกระทงที่อยู่ในสภาพปลอดภัย และเตรียมไว้สำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็ก ลอยกระทงเพียงลำพัง หรือลงไปเก็บเงินในกระทง กรณีเด็กจมน้ำและไม่หายใจให้ใช้วิธีเป่าปากและรีบนำเด็กไปส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลสถิติ การจมน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทง พบว่า ในช่วงวันลอยกระทงและหลังวันลอยกระทง มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงกว่าปกติเกือบ ๓ เท่า (ประมาณ ๒๙ คน) ทั้งที่วันปกติจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ ๑๑ คน เท่านั้น เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ มักลงไปเก็บเงินในกระทงหรือพลัดตกน้ำจากการไปร่วมงานลอยกระทง เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันเด็กจมน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทง ดังนี้ พาบุตรหลานไปลอยกระทงตามสถานที่จัดงานลอยกระทงที่อยู่ในสภาพปลอดภัย และเตรียมไว้สำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ ท่าน้ำ ท่าเทียบเรือโดยสาร โป๊ะ และสถานที่ริมน้ำสำหรับ ลอยกระทงอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง มีรั้วกั้นบริเวณริมน้ำ ตลิ่งน้ำไม่สูงชันเกินไป หากเป็นตลิ่งดิน ให้ระวังดินทรุดตัวหรือ ตลิ่งพัง เพิ่มความระมัดระวังในการพาเด็กไปลอยกระทงเป็นพิเศษ ดูแลเด็กไม่ให้คลาดสายตา ไม่ปล่อยให้เด็กเดินหรือวิ่งเล่นบริเวณริมน้ำ จับมือเด็กไว้ให้มั่น หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปลอยกระทงในบริเวณที่มีคนหนาแน่น ควรรอจนคนน้อยลง จึงค่อยไปลอยกระทง เพื่อป้องกันเด็กถูกเบียดจนพลัดตกน้ำ ที่สำคัญ ควรดูแลและห้ามมิให้เด็กลงไปเก็บเงินในกระทงอย่างเด็ดขาด เพราะช่วงนี้สภาพอากาศเย็น การแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ที่นั่งเรือไปลอยกระทงกลางน้ำ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขึ้นลงเรือ ควรรอให้เรือจอดเทียบท่าก่อนแล้วค่อยเดินขึ้นลงจากเรือ พร้อมทั้งสวมใส่เสื้อชูชีพตลอดเวลา การปฐมพยาบาลสำหรับเด็กจมน้ำ หากเด็กรู้สึกตัว หายใจได้เองควรเปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งให้แก่เด็ก เช็ดตัวและนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการ หากเด็กหัวใจไม่เต้น ให้ทำการเปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบ กดหน้าผากลงและเชยคางขึ้นเบาๆ ตรวจสอบการหายใจในเวลา ๓-๕ วินาที โดยสังเกตจากการเคลื่อนไหวของหน้าอกหรือท้อง ฟังเสียงหายใจ หรือแนบใบหน้าใกล้จมูกและปากของเด็กเพื่อสัมผัสลมหายใจ ถ้าเด็กไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปาก โดยทำ ๒๐ ครั้งต่อนาที หรือเป่าปาก ๑ ครั้งต่อ ๓ วินาที จากนั้นให้นำส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด สุดท้ายนี้ หากประสบอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทง สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ