เปิดให้ชมฟรี...เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ที่ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย

ข่าวบันเทิง Thursday November 18, 2010 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมเปิดโลกทัศน์ ส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเพิ่มพูนความรู้แก่เด็กและเยาวชนไทย กับการจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 6” (Science Film Festival 2010) ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ให้ชมฟรี ระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2553 ทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ วันละ 2 รอบ รอบเวลา 10.00 น. และ 11.00 น. ณ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย สถานศึกษาหรือโรงเรียนใดสนใจ...สามารถโทรสำรองที่นั่งเป็นหมู่คณะและติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-589-7321 และ 084-439-1308 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 พฤศจิกายน 2553 สำหรับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ในครั้งนี้ ได้ร่วมมืออย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้กำหนดให้ปี ค.ศ.2010 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ และค้นหาแนวทางการศึกษารูปแบบใหม่โดยผ่านทางสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ควบคู่ไปกับความบันเทิงและการเรียนรู้ซึ่งมีขึ้นในประเทศไทย อย่างเช่น คำถามที่ว่า หลุมดำคืออะไร หน่วย พันธุกรรมแสดงความเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร ทำไมป่าดิบชื้นถึงมีความสำคัญ เราจะหาวิธีดำรงชีวิตอย่างไรในการเดินทางที่ยาวไกลในห้วงอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายที่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่แทรกด้วยความบันเทิง ภาพยนตร์ทุกเรื่องพากย์เสียงภาษาไทยเพื่อให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้เข้าถึงเนื้อหาของภาพยนตร์อย่างเต็มรูปแบบ ในปีที่ผ่านมามีภจำนวนผู้เข้าชมภาพยตร์ในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้มากกว่า 112,000 คนทั่วประเทศ นับได้ว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนปีนี้มีผู้ส่งภาพยนตร์กว่า 170 เรื่อง จาก 24 ประเทศ และภาพยนตร์จำนวน 47 เรื่องจาก 17 ประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในงานเทศกาลครั้งนี้ โดยมีประเทศที่เข้าร่วม ดังนี้ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, บราซิล, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สเปน, ประเทศไทย, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ฯ จะเน้น “ภาพยนตร์สาระบันเทิง” ที่มีการอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานให้แก่เยาวชน นอกจากนี้ มีการนำเสนอภาพยนตร์ในกลุ่ม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, วิทยาศาสตร์ทั่วไป การแพทย์และเทคโนโลยี,วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย สำหรับที่ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีการจัดฉายภาพยนตร์ในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเต็มรูปแบบรวม 47 เรื่อง โดยมีเรื่องเด่น ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้ น้ำท่วมกรุงเทพ (The Inundation of Bangkok) กำกับโดย สองคนไทย สุวิมล เมืองเสือ และ สุริยัน เที่ยงปาน เนื้อหาภาพยนตร์เกี่ยวกับ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2460 ครั้งนั้นเกิดน้ำเหนือไหลบ่าเข้าท่วม หลังจากจากนั้นก็เกิดน้ำท่วมอีกหลายครั้ง แต่ไม่หนักมากไม่นานก็ลดลง ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า อีกไม่นานน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ อีกครั้ง ครั้งนี้จะท่วมถาวร ส่วนสาเหตุเกิดจาก - เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์เกิดแตก จากสาเหตุเกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งน้ำจากเขื่อนจำนวนมหาศาลจะไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯ แต่นี่อาจจะยังไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯถาวร - เกิดจากภาวะโลกร้อน บวกกับการทรุดตัวของแผ่นดินกรุงเทพฯ จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ระดับทะเลจะค่อย ๆ กลืนแผ่นดินจนท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ทั้งหมด พื้นที่ต่ำทั้งหมดของประเทศไทยจะหายไปกลับน้ำ ซึ่งนี่คือเรื่องที่น่ากลัวและกำลังเกิดขึ้น โดยเห็นได้จากพื้นอ่าวไทยบริเวณแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้กำลังถูกน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาจนพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินหายไปหลายกิโลเมตร มีการตั้งคำถามว่ามีวิธีแก้ปัญหาหรือไม่ วิธีไหนดีที่สุด คนในพื้นที่เขาแก้ปัญหากันอย่างไร มีหลักและทฤษฏีไหนที่เหมาะกับการแก้ปัญหาบ้าง หรือจะเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ไอกอทอิท ตอน หนอนไหม (I Got It! - Silk Worm) กำกับโดย นรภัทร์ อร่ามเรือง ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้ (ผลิตโดยทีวีไทย) เราจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าไหม ตั้งแต่การถือกำเนิดของหนอนไหมไปจนถึงกระบวนการทอเส้นใยที่น่าทึ่งนี้ให้เป็นผ้าไหมที่มีลวดลายงดงามในโรงงานทอผ้าของไทย นรภัทร์ อร่ามเรือง ผู้กำกับสารคดีตอนนี้กล่าวว่า “เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าทึ่งมาก เราไม่เพียงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตผ้าไหม แต่ยังได้เรียนรู้ว่าจะเสนอเรื่องราวนี้อย่างไรให้สนุกและเข้าใจง่าย นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงาน เพราะพวกเรามาจากสายงานประเภทข่าวและรายการบันเทิง เราจึงได้เรียนรู้อะไรมากมายในช่วง 10 เดือนที่ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาชาวเยอรมันและเพื่อนร่วมอาชีพจากทั่วภูมิภาค โครงการนี้ได้นำพาผู้คนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันให้มาทำงานร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง นี่เป็นความรับผิดชอบที่เราควรจะมีต่อการพัฒนารายการสำหรับเยาวชนในประเทศ” รายการเก้านาทีครึ่ง ตอน รณรงค์วันสุขานานาชาติ (Nine and a Half - World Toilet Day) จากประเทศเยอรมนี ที่เนื้อหาเล่าว่ามนุษย์ทุกคนต้องไปใช้ห้องสุขาถัวเฉลี่ยวันละหกครั้ง ของเสียจากร่างกายที่เราทิ้งไว้ในห้องสุขานั้นถูกน้ำชักโครกล้างหายลงท่อไปหมด ทว่าในประเทศที่ยากจน ชุมชนหลายพื้นที่ไม่มีน้ำประปา ไม่มีแม้น้ำใช้ และไม่มีห้องสุขา ด้วยเหตุนี้ บ่อยครั้งที่ของเสียจากร่างกายมนุษย์ถูกปลดปล่อยลงบนถนน แล้วไปปนเปกับน้ำในแหล่งน้ำที่ใช้ดื่มใช้กิน จนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในที่สุด สารคดีตอนนี้ได้พิสูจน์อีกครั้งถึงความเข้มแข็งของรายการในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อน ภายใต้รูปแบบการนำเสนอที่ร่าเริงแจ่มใส ด้วยการหยิบยกประเด็นสุขาภิบาลในประเทศกำลังพัฒนา ที่โยงถึงอันตรายต่อสุขภาพมานำเสนอ ในลักษณะที่ไม่ทำให้ผู้ชมรุ่นเยาว์รู้สึกหวาดกลัวจนเกินไป ลูซี่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ : ไฟฟ้า ( Lucie Tells the Story of Science: Here Comes the Light) จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หิ่งห้อยลูซี่ ตัวละครที่แสนน่ารัก จะมาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังถึงความเป็นมาของวิทยาศาสตร์จากจุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ในแต่ละตอนเธอจะพาพวกเขาย้อนกลับไปสู่อดีตและคืนกลับมายังปัจจุบัน ด้วยรูปแบบของภาพเหมือนมากมาย นั่นคือบรรดานักประดิษฐ์และผู้ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกทั้งหลายที่ได้มีส่วนสร้างความก้าวหน้าอย่างสำคัญให้แก่วิทยาศาสตร์ เธอจะไปเยี่ยมชมห้องทดลอง พิพิธภัณฑ์ และบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่ซึ่งเธอจะได้พบกับเหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ที่จะมาให้ความรู้กับเธอยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้ เด็ก ๆ จึงได้ค้นพบจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและความรู้ที่พวกเขาใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน พาหะร้ายจากป่าร้อนชื้น (A Threat in the Tropics) จากประเทศบราซิล เป็นสารคดีเรื่องแรกที่บราซิลส่งเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสายพันธุ์ยุงข้ามทวีป รวมทั้งบทบาทของมันในการแพร่เชื้อไวรัส โดยเน้นที่โรคไข้เลือดออก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ระบาดในประเทศเขตร้อน สารคดีมีทั้งภาพจริงและภาพจำลองของยุงซึ่งจะแสดงให้เห็นถิ่นกำเนิด การแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก และรูปพรรณสัณฐานของมัน รายการ อ๋อ นี่คือความรู้ ตอน เพื่อนแสนรัก (Ah! I Got It! - Sooooo Sweet!) จากประเทศเยอรมนี เป็นรายการโทรทัศน์สำหรับผู้ชมวัยเยาว์ ที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง โดยนำเสนอสารพัดคำถามที่ทุกคนสงสัย และมีวิธีการเฉลยคำตอบที่ฉลาดและสนุกสนาน ในตอนนี้ ชารี่ กับ ราล์ฟ ดำเนินรายการอย่างเป็นมิตรต่อกัน ทุกอย่างเป็นไปอย่างชื่นมื่นและเบิกบาน ทั้งสองได้นำเสนอเรื่องราวน่ารู้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ