ปภ. เตือนคนไทยเตรียมรับมือสภาพอากาศหนาวจัดในรอบ ๓๐ ปี และ 2.ปภ.เตือนปล่อยโคมลอยผิดวิธี ทำให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรง

ข่าวทั่วไป Thursday November 18, 2010 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับสภาพอากาศหนาวจัดในรอบ 30 ปี ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ ตรวจสอบสภาพบ้านเรือน มิให้มีรูโหว่หรือช่องบริเวณ ฝาผนังบ้าน เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟและการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกจัด สำหรับเกษตรกรควรวางแผนการปลูกพืชที่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งในฤดูหนาว จัดหาวัสดุห่อหุ้มพืชผลการเกษตรที่กำลังออกดอก เพื่อป้องกันน้ำค้างแข็งเกาะผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญาครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี จึงคาดการณ์ว่าสภาพอากาศในฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยสูง จึงขอแนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูหนาวเป็นไปด้วยความปลอดภัย ดังนี้ ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ โดยสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ไม่อาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำเย็น หมั่นออกกำลังกาย ดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มี โรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด เพราะเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสียชีวิตจากสภาพอากาศหนาวเย็น ตรวจสอบสภาพบ้านเรือน มิให้มีรูโหว่หรือช่องบริเวณฝาผนัง หลังคาบ้าน พร้อมดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันลมหนาวที่พัดเข้ามาในบ้าน เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท เพราะสภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง หากเกิดเพลิงไหม้จะลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อนออกจากบ้าน ให้ดับธูปเทียนให้สนิท ถอดปลั๊กไฟ ปิดสวิซต์ไฟ ปิดวาว์ลถังก๊าซให้สนิททุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ห้ามก่อกองไฟให้ความอบอุ่น สูบบุหรี่ในบริเวณบ้าน หรือใกล้แหล่งเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น กองไม้แห้ง กองฟาง ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้น เพราะหากเผลอหลับ อาจถูกไฟคลอกเสียชีวิต การขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกลงจัด ไม่ขับรถเร็ว เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน หากหมอกลงจัดจนมองไม่เห็นเส้นทาง ให้จอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย รอจนทัศนวิสัยดีขึ้น ค่อยขับรถต่อไป จะปลอดภัยมากกว่า นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูหนาว เกษตรกรควรวางแผนการปลูกพืช ที่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งและหนาวเย็นในฤดูหนาว จัดหาวัสดุห่อหุ้มพืชผลการเกษตรที่กำลังออกดอก เพื่อป้องกันน้ำค้างแข็งเกาะผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย พร้อมจัดทำแนวกันไฟตามแนวชายป่า เพื่อป้องกัน ไฟลุกลามเป็นไฟป่า งดเว้นการเผาตอซางข้าว หญ้าแห้งในช่วงที่ลมพัดแรง เพราะหากสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุอื่น จะทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุมเพลิง อีกทั้งยังทำให้เกิดหมอกควันไฟบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง จนเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนผู้ที่นิยมปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทง เลือกซื้อโคมลอยที่ผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่ปล่อยในบริเวณแหล่งชุมชน หรือใกล้สนามบิน เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้และกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง ประชาชนหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ มักนิยมปล่อยโคมลอย ซึ่งการปล่อยโคมลอยอย่างไม่ถูกวิธี และการใช้โคมลอยที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และส่งผลกระทบต่อการควบคุมการบิน จึงสร้างปัญหาในการสัญจรทางอากาศ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติภัยร้ายแรงจากการปล่อยโคมลอย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีปฏิบัติ ดังนี้ การเลือกซื้อ เลือกซื้อโคมลอยที่ผลิตตามมาตรฐาน ความปลอดภัยที่กำหนดไว้และทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษ ไม้ไผ่ เป็นต้น ไม่ติดวัสดุตกแต่งที่มีคุณสมบัติไวไฟไว้กับโคมลอย เนื่องจากโคมลอยที่ผลิตตามมาตรฐานจะมีคุณสมบัติในการลอยตัวที่ไม่สูงมากนักและมีระยะเวลาลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าไม่นาน (ไม่เกิน 8 นาที) รวมถึงเผาไหม้เชื้อเพลิงหมดก่อนตกลงพื้น จึงไม่เป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้หากตกลงสู่พื้น และไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ ขณะที่โคมลอยที่ไม่ได้มาตรฐานจะลอยอยู่ในอากาศเป็นระยะเวลานานด้วยความสูงมากกว่าปกติ อาจลอยไปติดกับล้อของเครื่องบินทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นลุกไหม้หรือระเบิดได้ การเลือกสถานที่ปล่อยโคมลอย ควรเลือกปล่อยโคมลอยในพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่อยู่ในบริเวณชุมชนหรือพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะอาจตกใส่ที่พักอาศัย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ห้ามปล่อยใกล้สนามบิน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานและพื้นที่โดยรอบสนามบิน หากปล่อยโคมลอย ควรปล่อยหลังช่วงเวลา 21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่การบินไม่หนาแน่น สำหรับสถานที่จัดงานที่มีการปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมากผู้จัดงานต้องขออนุญาตและแจ้งให้ทางจังหวัดและท่าอากาศยานทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ