ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารกรุงไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ รายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆ ซึ่งฟิทช์ประกาศคงอันดับเช่นกัน แสดงอยู่ในส่วนท้าย อันดับเครดิตของ KTB โดยหลักมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 18.5% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่และความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารได้รวมการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายการดำเนินงานในประเทศของธนาคาร และสถานะทางการเงินของธนาคาร โดย KTB ยังคงมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์และอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น KTB มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% เป็น 11.4 พันล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) ที่ 0.9% ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่สูงขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ (เพิ่มขึ้น 11% จากสิ้นเดือนกันยายน 2552) และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ KTB ปรับตัวลดลงเป็น 3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (จาก 3.2% ในปี 2552) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ เช่น สินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาครัฐและเงินกู้ระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ทั้งนี้ผลการดำเนินงานโดยรวมในปี 2553 ของ KTB คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 และมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางอ่อนแอลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังสามารถปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับตัวลดลงเป็น 81.8 พันล้านบาท หรือ 7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (85.5 พันล้านบาท หรือ 8% ณ สิ้นปี 2552) แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่น ทั้งนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของ KTB อยู่ในระดับทรงตัวที่ 19.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 หรือ 1.7% ของสินเชื่อรวม (19.1 พันล้านบาท หรือ 1.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) และยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น สำรองหนี้สงสัยจะสูญของ KTB ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมาเป็น 45.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ 56% ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่สูงกว่า 80% ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ธนาคารอาจจะต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม แม้ว่าระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญแบบเฉพาะเจาะจง (specific reserves) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น แต่ระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญทั่วไป (general reserves) นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐอยู่ในระดับที่สูงกว่า (17% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับต่ำ ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการส่วนใหญ่จะใช้บริการเงินฝากกับธนาคาร อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ 96.8% อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประมาณ 88% หากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทหนึ่งสำหรับผู้ฝากเงิน KTB มีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนรวมที่ 9.5% และ 15.2% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของ KTB เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวพิจารณาถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) อาจได้รับการปรับเพิ่ม หากผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่ธนาคารสามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดลง หากปัจจัยดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตของตราสารหนี้และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการจัดอันดับเครดิต โดยตราสารหนี้ดังกล่าวยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามปกติ อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 2 อันดับจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ไม่ได้พิจารณารวมการสนับสนุนของรัฐบาล โดยเป็นการพิจารณาเฉพาะความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (implied unsupported IDR และ unsupported National long-term rating) โดยเฉพาะระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและกำไรสะสมที่อยู่ในระดับสูง (54.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำมาพิจารณาเพื่ออนุมัติการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าว หากธนาคารประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ ระดับความแตกต่างของอันดับเครดิตจึงอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัจจัยด้านความแข็งแกร่งทางการเงินดังกล่าวปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการระบุในเรื่องการไม่อนุมัติให้ธนาคารชำระดอกเบี้ย ในกรณีที่ธนาคารประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้: - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ - อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ ‘C/D’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB-’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BBB’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BB’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ ‘A(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ