ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 9 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 255 ราย ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553

ข่าวทั่วไป Friday November 26, 2010 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ปภ. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม —ปัจจุบัน ว่า มีพื้นที่ประสบภัย รวม 51 จังหวัด 558 อำเภอ 3,962 ตำบล 32,423 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,612,472 ครัวเรือน 8,970,653 คน คลี่คลายแล้วและอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู 42 จังหวัด ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ใน 9 จังหวัด 26 อำเภอ 206 ตำบล 1,293 หมู่บ้าน 134,912 ครัวเรือน 461,439 คน ผู้เสียชีวิต 255 ราย แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง 7 จังหวัด 17 อำเภอ 133 ตำบล 652 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 76,592 ครัวเรือน 276,819 คน ผู้เสียชีวิต 177 ราย ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และปทุมธานีภาคใต้ 2 จังหวัด 9 อำเภอ 73 ตำบล 641 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 58,320 ครัวเรือน 184,620 คน ผู้เสียชีวิต 78 ราย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และพัทลุง จังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วและอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู 42 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท ชัยภูมิ นครสวรรค์ ศรีสะเกษ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก ชลบุรี สระแก้ว สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครปฐม บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สงขลา นครศรีธรรมราช สตูล นราธิวาส ยะลา กระบี่ ชุมพร ระนอง ปัตตานี และตรัง ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ปภ.รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 255 ราย ใน 29 จังหวัด ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย รวม 255 ราย ใน 29 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 91 ราย (เพิ่ม 7 ราย) ภาคใต้ 78 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55 ราย(เพิ่ม 4 ราย)ภาคเหนือ28 ราย และภาคตะวันออก 3 ราย ซึ่ง ปภ.จะได้ประสานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือค่าจัดการศพตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม-ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต รวม 255 ราย ใน 29 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 91 ราย (เพิ่ม 7 ราย) ได้แก่ ลพบุรี 18 ราย สระบุรี 4 ราย ชัยนาท 6 ราย นนทบุรี 7 ราย สุพรรณบุรี 13 ราย ปทุมธานี 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 29 ราย (เพิ่ม 7 ราย) สิงห์บุรี 10 ราย และนครปฐม 1 ราย ภาคใต้ 78 ราย ได้แก่ สงขลา 35 ราย สตูล 2 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย ปัตตานี 5 ราย พัทลุง 8 ราย ชุมพร 2 ราย ตรัง 4 ราย และนครศรีธรรมราช 13 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55 ราย (เพิ่ม 4 ราย) ได้แก่ นครราชสีมา 35 ราย (เพิ่ม 3 ราย) บุรีรัมย์ 6 ราย ขอนแก่น 6 ราย ชัยภูมิ 8 ราย (เพิ่ม 1 ราย) ภาคเหนือ 28 ราย ได้แก่ นครสวรรค์ 17 ราย อุทัยธานี 1 ราย กำแพงเพชร 6 ราย พิจิตร 1 ราย และเพชรบูรณ์ 3 ราย ภาคตะวันออก 3 ราย ได้แก่ ระยอง 1 ราย ตราด 1 ราย และสระแก้ว 1 ราย จากการตรวจสอบ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ จมน้ำ 225 ราย (เพิ่ม 11 ราย)รองลงมา ได้แก่ ไฟฟ้าดูด 17 ราย ดินถล่มทับ 6 ราย ต้นไม้ล้มทับ 3 ราย ช็อค 2 ราย ไฟคลอก 1 ราย และขาดออกซิเจน 1 ราย ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือค่าจัดการศพตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยจ่ายค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจ่ายรายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายเงินช่วยเหลืออีกไม่เกิน 25,000 บาท รวมเป็น 50,000 บาท รวมถึงจะประสานกับกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตอีกรายละ 50,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัยเมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2553 ทั้งนี้ ญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละ 75,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับค่าจัดการศพ 100,000 บาท สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 75 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป ปภ.แนะวิธีขับรถขึ้น ลงเขาอย่างปลอดภัยในช่วงฤดูหนาว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนขับรถเที่ยวเขาช่วงฤดูหนาวเสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมแนะเลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับความชัน ความโค้งของเขา ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง ไม่เหยียบเบรคหรือหยุดรถกะทันหัน ชะลอความเร็วรถก่อนเข้าโค้ง เพิ่มความระมัดระวังหากต้องขับผ่านเส้นทางที่มีหมอกจัด ห้ามปล่อยเกียร์ว่างขณะขับรถลงเขา หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถหยุดรถได้ทัน พร้อมจอดพักรถเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันผ้าเบรคไหม้ทำให้เบรคแตก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ฤดูหนาวเป็นฤดูกาล ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักนิยมขับรถไปท่องเที่ยวตามภูเขา เพื่อชมทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติในฤดูหนาว โดยเส้นทางบนภูเขามักคดเคี้ยว จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เพื่อความปลอดภัย ขอแนะนำวิธีขับรถขึ้นลงเขา อย่างปลอดภัย ดังนี้ กรณีเป็นรถเกียร์ธรรมดา ควรเลือกใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับระดับความเร็ว ความชัน และความโค้งของเขา ปฏิบัติตามป้ายเตือนริมข้างทางอย่างเคร่งครัด ใช้เกียร์ 1-2 เท่านั้น เพราะเครื่องยนต์มีกำลังมาก พร้อมปรับปรับเปลี่ยนเกียร์เมื่อรถเสียกำลัง แต่ห้ามลากเกียร์จนรถหมดกำลัง หากเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ ให้ใช้เกียร์ 2 ในการขับรถขึ้นลงเขา และสลับใช้เกียร์ D เมื่อรถวิ่งบนทางราบ ห้ามขับรถด้วยความเร็วสูง ชะลอความเร็วก่อนขับรถเข้าโค้ง ซึ่งมองไม่เห็นรถที่วิ่งสวนทางมา เมื่อพ้นโค้งแล้ว ให้เหยียบคันเร่ง เพิ่มความเร็วรถ จะช่วยบังคับรถได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระมัดระวังรถที่วิ่งสวนทางมาด้วย อย่าเหยียบเบรคหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะจะทำให้ท้ายรถปัด จนรถเสียการทรงตัว เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องขับผ่านเส้นทางที่มีหมอกลงจัด เพราะเส้นทางจะเปียกลื่นและทัศนวิสัยไม่ดี ให้เปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ขับรถให้ช้ากว่าปกติ ไม่แซง เปลี่ยนช่องทางหรือหยุดรถกะทันหัน กรณีมีละอองฝ้า เกาะกระจกรถ ให้เปิดที่ปัดน้ำฝน ใช้ผ้าแห้งเช็ดกระจกบริเวณที่เป็นละอองฝ้า ปรับลดอุณหภูมิภายในรถให้ต่ำกว่านอกรถ จะช่วยไล่ละอองน้ำหรือไอน้ำที่เกาะตามกระจกรถให้จางหายไปเร็วขึ้น ห้ามปล่อยเกียร์ว่างขณะขับรถลงจากเขา เพราะไม่มีเครื่องยนต์ช่วยควบคุมความเร็วและฉุดกำลังรถ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที จอดพักรถริมข้างทางเป็นระยะๆ หากต้องขับรถลงเขาเป็นระยะทางไกลและเหยียบเบรคตลอดเวลา เพื่อป้องกัน ความร้อนสะสมในระบบเบรค ทำให้เบรคไหม้หรือเบรคแตก จนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ห้ามใช้น้ำราดในขณะที่จานเบรคยังร้อน จะทำให้จานเบรคคด และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการหยุดรถ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ