ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่มลงนาม MOU กับภาครัฐ ผงาดนำร่องโครงการ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” เจ้าแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 26, 2010 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) สัญญาการเข้าร่วมดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนยีแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในประเทศไทย ในการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เป็นการกระตุ้นให้ภาคการผลิต หาแนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงาน โดย บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรนำร่องธุรกิจยิปซัมรายแรกของประเทศไทย คาดว่าต่อไปโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศที่มีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและการบริโภคอย่างมหาศาล วิรัตน์ พนมชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ตระหนักและใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมตลอดมา มีความพร้อมในการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตภายในองค์กรและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการได้รับการรับรอง ISO 14001 แบรนด์ยิปรอคถือเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเครื่อหมายฉลากเขียวจากประเทศสิงคโปร์ ฯลฯ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากภาครัฐให้เป็นบริษัทนำร่องของ “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” แม้ปัจจุบันจะเป็นมาตรการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ แต่ต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ที่ส่งผลต่อการค้าอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีกับการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างมาก และช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์สินค้าได้อย่างดี อีกทั้งผลที่ได้จากการวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถนำมากำหนดแนวทางในการปรับปรุงบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน คือช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างภาคภูมิใจ” “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัทฯ เพราะเราคิดจะทำอยู่แล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทแม่ในต่างประเทศให้การสนับสนุน แม้ขณะนี้จะเป็นมาตรการสมัครใจ แต่ต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องที่รัฐบาลออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะในแง่ของการค้า หากไม่มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ต่อไปอาจจะมีปัญหาในเรื่องการถูกกีดกันทางการค้า หรือสินค้าบางอย่างส่งออกยากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการผลักดันเรื่องนี้ก็คือภาคธุรกิจนี่เอง และภาคธุรกิจอีกเช่นกัน ที่เป็นหน่วยงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณค่อนข้างสูงออกมาด้วย” นายวิรัตน์ กล่าว คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และขององค์กร กรรมการผู้จัดการแห่ง บมจ.ไทยยิบซั่มกล่าวต่อว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของการยอมรับเรื่องการลดสภาวะโลกร้อนต่อจากเรื่องการเป็นมิตรจากสิ่งแวดล้อม (Green) นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือชิ้นสำคัญที่หลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ นำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) หรือ ข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ก็หมายถึงการลดใช้พลังงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ทางอ้อม การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ยังทำให้ฝ่ายการตลาดของบริษัทสามารถนำไปใช้ในการโฆษณาได้ อีกทั้งไม่ถูกกีดกันทางการค้า ดังนั้นหลายองค์กรจึงเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้และมีการเตรียมพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิปซั่ม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทต่างชาติในยุโรป มีการเข้มงวดในเรื่องนี้มานานแล้ว “เราคาดหวังไว้ว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการบริษัทฯจะสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาว่าเป็นเท่าใด และหาทางลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในองค์ด้วยเทคโนโลยีการผลิตสะอาด ซึ่งผลที่ได้นี้สามารถนำไปเทียบเคียงกับธุรกิจข้างเคียงทั้งที่เป็นคู่แข่งทางตรงและทางอ้อมได้ ในขณะเดียวกันเราก็คาดหวังด้วยว่าผู้บริโภค สามารถใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการเลือกตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า เพราะสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตได้บริหารจัดการและพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือน้อยที่สุด นับว่าโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจากภาครัฐ เป็นทิศทางการพัฒนาที่หลายประเทศได้กำหนดไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่ได้เริ่มต้นอย่างช้า ๆ ในวันนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังและยั่งยืน” นายวิรัตน์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ