กรมสรรพากรเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกรอบอนุสัญญาภาษีซ้อนใหม่

ข่าวทั่วไป Monday November 29, 2010 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานในพิธีเปิดการอภิปราย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกรอบเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพมหานครปัจจุบันประเทศไทยมีอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่มีผลบังคับใช้แล้วรวม 54 ประเทศ ซึ่งมีข้อบทที่ต้องพิจารณาในแต่ละประเด็นที่ซับซ้อนมากจากโครงสร้างภาษี และสภาพการบังคับใช้ของกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับประเทศคู่สัญญา นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการเจรจากับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วตามกรอบมาตรฐานของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาก็ต้องดำเนินการตามกรอบของ United Nations (UN ) การเจรจารอบใหม่กับประเทศคู่สัญญาใหม่ๆ นับจากนี้ไป จำเป็นต้องพิจารณาวางกรอบการเจรจาในแต่ละประเด็นให้เป็นมาตรฐานทั้งในกรอบของประเทศไทยควบคู่ไปกับกรอบขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น OECD และ UN ผนวกร่วมไปพร้อมกันด้วย กรมสรรพากรจึงจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อให้มีการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้กรอบการเจรจาจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางและมีผลผูกพันต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญนั้น ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนภายใต้รัฐธรรมนูญฯ โดยนำผลสำเร็จที่ได้รับจากการจัดทำกรอบการเจรจาเพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาในลำดับต่อไป นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “ หลังจากนี้ การเจรจาจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศของกรมสรรพากร จะเป็นไปตามทิศทางและมาตรฐานใหม่ ให้อนุสัญญาฯ เหล่านั้น ช่วยขจัดอุปสรรคและปัญหาภาระภาษีที่ซ้ำซ้อน ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการลง ทุน ก่อผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ กรอบใหม่จะช่วยให้การเจรจามีผลสำเร็จโดยง่าย ทำให้เกิดการพัฒนาที่สร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ร่วมต่อประเทศชาติและประเทศคู่สัญญาที่จะมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันต่อไป ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ