แม่ฮ่องสอนขยายผล 7 อบต.นำร่อง ทำแผนที่ทรัพยากรแก้ปัญหาที่ดินและความยากจน

ข่าวทั่วไป Friday April 27, 2007 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สกว.
สกว.มอบโปรแกรมจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นให้ อบต.ห้วยปูลิง นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน พร้อมขยายผลอีก 6 ตำบลในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หวังใช้เป็นหลักฐานแก้ไขปัญหาที่ดิน “ชุมชนคนกับป่า” และปัญหาความยากจนได้อย่างบูรณาการ ภายใต้การทำงานร่วมกันของชุมชนนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุทยานฯ ที่ดิน และ ป่าไม้
ผศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ผู้ประสานงาน สำนักประสานงานเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สกว. กล่าวว่า โปรแกรมที่มอบให้แก่ อบต.ดังกล่าวเป็นโปรแกรมระบบการจัดเก็บและเรียกใช้ฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น สำหรับใช้ในการตัดสินใจการแก้ปัญหาชุมชนด้านต่าง ๆ โดยได้มาจากการเข้าสำรวจเชิงพื้นที่ ทั้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การสอบถามข้อมูลปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยความร่วมมือกันระหว่างราษฎรในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. ทำการสำรวจทุกครัวเรือน จนได้ฐานข้อมูลด้านต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลการเดินเท้าสำรวจเชิงพื้นที่ทำกินของชุมชนร่วมกันระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ เพื่อกำหนดจุดพิกัดหรือขอบเขตที่แท้จริง แล้วนำมาลงโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น จากนั้นโปรแกรมจะทำการประมวลผลออกมาเป็นแผนที่การใช้ที่ดินและทรัพยากรด้านต่าง ๆ ซึ่ง อบต.สามารถนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อการพัฒนาชุมชนได้ต่อไป นอกจากนี้ชุมชนยังสามารถเรียกใช้และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้เอง โดยทีมวิจัยจะอบรมเรื่องเทคนิควิธีการใช้งานให้แก่เจ้าหน้าที่ของชุมชนต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันทุกตำบลในอำเภอเมืองมีฐานข้อมูลชุมชนอยู่แล้วซึ่งสามารถนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้ได้ จึงจะมีการนำไปขยายผลกับอีก 6 ตำบลในอำเภอเมือง คือ ตำบลปางหมู ผาบ่อง หมอกจำแป่ ห้วยโป่ง ห้วยผา และเทศบาลเมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนโดยชุมชนเอง
ผศ.ดร.สาวิตร มีจุ้ย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำเสนอผลจากแบบสอบถามข้อมูลความเป็นอยู่รายครัวเรือนและพื้นที่ทำกินของตำบลห้วยปูลิง พบว่า เป็นชุมชนที่ไม่ค่อยมีความมั่นคงทางด้านอาหารหลัก (ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในชุมชน) มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ไม่เกิน 10 ตัวต่อครัวเรือน มีสัตว์เศรษฐกิจอยู่บ้างเช่น วัว ควายแต่ จะขายเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้น ส่วนใหญ่มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ โดยมีรายจ่ายมากกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่มีรายรับเฉลี่ยต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน มีหนี้สินในครัวเรือนส่วนใหญ่เกิน 10,000 บาท (กู้จากกองทุนหมู่บ้าน) มีการศึกษาระดับประถมศึกษา มีรายได้จากการรับจ้าง รองลงมาเป็นการเลี้ยงสัตว์ มีปัญหาสุขภาวะในครัวเรือนคือ โรคทางเดินหายใจ พลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในครัวเรือน คือ ไม้ฟืน พลังงานให้แสงสว่างในครัวเรือน ได้จากแผงรับแสงดวงอาทิตย์ ระบบการประปา ใช้ประปาภูเขา มีน้ำตลอดปี สาเหตุที่ชุมชนห้วยปูลิง มีวิถีดำรงชีวิตพื้นฐานอยู่ได้ คือ อาศัยอาหารจากในป่า อยู่อย่างอัตภาพของตน
มีสังคมเกื้อกูลช่วยเหลือกัน กระแสบริโภคนิยม ยังขยายไม่ครอบคลุม จึงสรุปได้ว่าชุมชนตำบลห้วยปูลิง อยู่กับป่า อาศัยป่า รักษาป่า เพื่อความอยู่รอดของตน
ดังนั้นแนวทางการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนตำบลห้วยปูลิง ควรกำหนดนโยบายพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (ปัจจัยสี่ + พลังงานและสุขภาวะในครัวเรือน) โดยใช้ระบบการเกื้อกูลช่วยเหลือกันภายในหมู่บ้าน และระหว่างหมู่บ้าน ระบบการแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่เกินพอระหว่างหมู่บ้านเน้นรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง เร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันกระแสบริโภคนิยมจากภายนอก
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดินตำบลห้วยปูลิง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปัญหาที่ดินและป่าไม้ที่ดิน นำโดย พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานฯ และคณะ รวมทั้ง ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 -19 เมษายน 2550
ชุมชนบ้านหนองขาวกลาง ต.ห้วยปูลิง ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ได้แสดงแผนที่ชุมชน ที่มาจากการสำรวจและจัดทำระบบข้อมูลด้านต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกับทีมวิจัยจาก สกว. จัดทำขึ้น โดยเฉพาะแผนที่แสดงพื้นที่ทำเกษตร(ไร่หมุนเวียน)ของชุมชนที่ใช้ทั้งการเดินสำรวจลากเส้นในพื้นที่จริง และภาพถ่ายทางอากาศ กำหนดจุดพิกัดในแผนที่ เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความชัดเจนอย่างเป็นทางการ และประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินบนพื้นที่สูงได้ต่อไป และล่าสุดได้เกิดความร่วมมือในการสำรวจเพื่อสร้างความชัดเจนเชิงพื้นที่อีกครั้งระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (อาทิ กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้, ฯลฯ) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และนักวิชาการ
พลเอกสุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อเรายอมรับว่าคนส่วนหนึ่งต้องอยู่กับป่า ไม่สามารถจะโยกย้ายคนออกจากป่าได้หมดและไม่ใช่เรื่องง่าย ภาควิชาการจึงต้องเข้ามาช่วยเพื่อหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมให้คนอยู่ได้และป่าก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาความยากจนด้านหนึ่งคือการมีที่ดินทำกินอย่างมั่นคง ซึ่งส่วนที่จะเข้ามาช่วยได้มากคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยาน ว่าเราทำอย่างนี้แล้วจะช่วยกันได้อย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนั้นมาทีหลังชุมชน การแก้ปัญหาจึงต้องนำข้อมูลความจริงมาพิจารณากัน เมื่อกฎหมายต้องการอนุรักษ์ป่า รักษาพื้นที่ต้นน้ำ แต่คนเหล่านี้เขาอยู่มา 150 ปี ก่อนมีกฎหมายเสียอีก หากมีการจับมือกันทั้งสองฝ่าย หากท้องถิ่นสามารถอยู่กับป่าและยังคงรักษาสภาพความสมบูรณ์ของป่าไว้ได้ก็จะน่าจะเป็นทางออกที่ดี การทำแผนที่ก็ให้ไปทำร่วมกับกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งป่าไม้ อุทยาน และที่ดิน เพื่อป่าอยู่ได้ชุมชนก็อยู่ได้ด้วย.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ