ระดมสมองเอกชน-รัฐรับมือ AEC ปลุก SME รับสร้างบ้านปรับตัวสู้

ข่าวทั่วไป Friday December 3, 2010 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ซีรีบรัม พีอาร์ กทม.- นักวิชาการนักธุรกิจประสานเสียง ปลุกธุรกิจรับสร้างบ้าน SME เร่งปรับตัวสร้างมาตรฐานการบริหารงาน-ลดต้นทุนพัฒนาเทคโนโลยีและโนฮาวน์ เสริมศักยภาพด้านการแข่งขันรับมือคู่แข่งต่างชาติ จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญการตลาดและระบบแฟรนไชส์ ระบุปัญหาใหม่ SME ยังไม่ตื่นและปรับตัวรับการแข่งขัน แนะ SME หา 3เครื่องมือสู้ศึก หาพันธมิตรการค้า ออกแบบกระบวนการทางการค้า สร้างเน็ตเวิร์ค ด้านกูรูอสังหาฯ ชี้เปิดตลาดต่างประเทศง่ายกว่าตั้งรับการแข่งขันในประเทศ ขณะที่นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน มองแนวโน้มตลาดปีหน้าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหันมาใช้เงินกู้ปลูกบ้านมากขึ้น เชื่อเป็นลูกค้าใหม่ช่วยตลาดเติบโตสูงในอนาคต ส่วน “บิวท์” แนะ 3 เคล็ดลับรับสร้างบ้านมือใหม่ รับมือการแข่งขันในตลาดเตือนอย่างจดจ่อคิดนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว นายสุภัฒ สงวนดีกุล ผู้อำนวยการสำนักอาเซียนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีผลต่อธุรกิจส่งออก และการลงทุนของกลุ่มนักธุรกิจจากต่างประเทศ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันและผลกระทบต่อ SME คือการเปิดให้นักลงทุนจากประเทศสมาชิกสามารถเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่ากลุ่มทุนในประเทศได้โดยสามารถถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในแต่ละประเทศได้สูงกว่า 70% ในปี 2558 ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าหากเปิดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเดียวกันจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจ SME และแรงงานฝีมือในประเทศ หากไม่มีการปรับตัว เพิ่มศักยภาพและมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล นายมานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการเคลื่อนย้ายของแรงงานฝีมือ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับวิชาชีพต่างๆ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการก้าวออกไปเจาะตลาดต่างประเทศจะมีโอกาสเกิดและเติบโตมากกว่าการตั้งรับคู่แข่งทางธุรกิจที่จะเข้ามาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการตั้งรับเป็นเรื่องที่ยากกว่าการออกไปสร้างโอกาสในต่างประเทศ แต่การออกไปทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ ต้องขายความต่างไม่ใช่เพียงการนำสินค้าออกไปขาย แต่ควรขายดีไซน์หรือสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ นายพีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการพัฒนาระบบแฟรนไชส์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการตื่นตัวของกลุ่มธุรกิจ SME เพราะในปัจจุบัน SME ยังไม่มีการตื่นตัวและปรับตัวรับมือในเรื่องที่จะเกิดขึ้น เพราะหากยังไม่มีการปรับตัว แน่นอนว่าผลกระทบหนักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่นั้นได้ออกไปเจาะตลาดในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC นานแล้ว ทำให้ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนสำหรับแนวทางการรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้าเสรีนั้นผู้ประกอบการ SME นอกจากจะต้องสร้างมาตรฐานและพัฒนาองค์กรแล้ว ต้องมีการเสริมศักยภาพใน3 ด้านคือ 1.การหาพันธมิตรทางการค้า 2.การออกแบบกระบวนการทางการค้าใหม่ และ 3.การสร้างเน็ตเวิร์คทางธุรกิจ หรือเน็ตเวิร์คดีไซน์ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมของการก้าวไปสู่ การออกเปิดตลาดต่างประเทศ นายสิทธิพร สุวรรณสุทต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการเกิดปัญหาทางการเมืองและวิกฤติเศราฐกิจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจสร้างบ้านเองของผู้บริโภคประกอบกับตลาดรับสร้างบ้านยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทำให้ตลาดยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว เนื่องจากยังไม่มีการขยายตลาดไปในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีช่องว่างและโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ ในต่างจังหวัดอยู่ค่อนข้างมากนอกจากนี้การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจัน จากการใช้เงินออมในการปลูกสร้างบ้านมาเป็นการใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินในการสร้างบ้านถือเป็นโอกาสในการขยายตัวของตลาดรับสร้างบ้านที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สินเชื่อในการสร้างบ้านทำให้สัดส่วนในการขอสินเชื่อเพื่อการสร้างบ้านขยายตัวมากขึ้นจากเดิมที่ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้บริโภคสร้างบ้านเองจะนิยมใช้เงินออมในการก่อสร้างบ้านซึ่งมีสัดส่วนถึง70-80% ของตลาดรวม ทั้งนี้ผลการสำรวจความต้องการก่อสร้างบ้านของผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่ามีความต้องการสินเชื่อในการก่อสร้างการสร้างบ้านเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้สัดส่วนในการใช้เงินออมในการสร้างบ้านลดลงมาอยู่ที่ 30-40 %ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแข่งขันในตลาดถือว่าเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายใหม่และรายเล็ก ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับรายใหญ่ในตลาด และเพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักลงทุนจากต่างชาติในปี 2558 นายสุธี เกตสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวท์ ทู บิวด์ และบางกอกเฮ้าส์ บิลเดอร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านถือว่าเป็นธุรกิจบอกต่อ ทำให้ต้องใช้เวลาในการสร้างสมชื่อเสียงและความไว้ใจในกลุ่มลูกค้า สำหรับเคล็ดลับส่วนตัวที่ทำให้บิวท์ฯ ได้รับการยอมรับจากลูกค้าจนถึงปัจจุบัน มี 3 ข้อคือ 1.ต้องเปิดรับฟังลูกค้า และรู้จักรับฟังความต้องการลูกค้า ไม่ใช้ให้ลูกค้าฟังเราเพียงฝ่ายเดียว 2.รู้จักหาข้อมูลคือหาข้อมูลจากลูกค้า พื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการตอบรับความต้องการลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย และ 3.หลังก่อสร้างเสร็จต้องมีการสำรวจความพอใจลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคต อย่างไรก็ตามในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขัน ทั้งมาตรฐานการดำเนินงานที่เทียบเท่าสากลและการบริหารต้นทุน แต่ที่สำคัญคือเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการลดต้นทุนแต่อยากเตือนว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้หรือพัฒนาโนฮาวน์ของตนเองนั้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องคิดโนฮาวน์หรือเทคโนโลยีของตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะการพัฒนาโนฮาวน์นั้นใช้เวลานานและน้อยคนที่จะทำสำเร็จ “ส่วนของเทคโนโลยีและโนฮาวน์นั้น ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเอง แต่สามารถศึกษาจากรายอื่นๆและนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาต่อยอดใช้ได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้แทุบทุกบริษัทก็พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วยวิธีดังกล่าวเช่นกัน” นายสุธีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ