เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค รายงาน รูปลักษณ์ความสวยโดนใจโดยรวมของรถยนต์ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัดจากปี 2552

ข่าวยานยนต์ Friday December 3, 2010 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ โมเดิลรถยนต์จาก 6 ค่ายผู้ผลิตได้รับรางวัล APEAL เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ ระบบปฎิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (Automotive Performance, Execution and Layout - APEAL) ประจำปี 2553 ในวันนี้ พบว่า รูปลักษณ์ความสวยโดยรวมของรถยนต์เพิ่มขึ้นจากปี 2553 สวนทางกับความถดถอยในระหว่างปี 2551 และ 2552 ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ของการศึกษาสมรรถนะ ระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ หรือ APEAL ซึ่งใช้คำตอบของผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นเกณฑ์วัดถึงปัจจัยที่สร้างความพอใจ ที่เจ้าของรถมีต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขา ในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษาได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์เกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมระบบการทำงานของรถยนต์ 10 หมวด ได้แก่ ภายนอกตัวรถ, ภายในตัวรถ, พื้นที่เก็บของและพื้นที่ว่าง, เครื่องเสียง/ความบันเทิง/และระบบนำทาง, ระบบที่นั่ง, ระบบฮีทเตอร์/ระบบระบายอากาศ/และระบบแอร์ (HVAC), สมรรถนะในการขับขี่, เครื่องยนต์/ระบบเกียร์, ทัศนวิสัยและความปลอดภัยในการขับขี่, และสุดท้าย ได้แก่ความประหยัดน้ำมัน สำหรับคะแนนเฉลี่ยของภาพรวมจากการศึกษา APEAL ในปี 2553 อยู่ที่ 886 คะแนน เพิ่มขึ้น 15 คะแนน จากปี 2552 และความพึงพอใจของปี 2553 ได้เพิ่มขึ้นในทั้ง 10 หมวด หมวดที่มีการพัฒนาอย่างเด่นชัดที่สุด ได้แก่หมวดของระบบฮีทเตอร์/ระบบระบายอากาศ/และระบบแอร์ (HVAC) จากการศึกษา ยังพบอีกว่าความสำคัญของแต่ละหมวด มีการยกระดับเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำคัญของทัศนวิสัยและความปลอดภัยในการขับขี่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2552 บรรดาเจ้าของรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ เห็นว่าทัศนวิสัยและความปลอดภัยในการขับขี่ เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการสร้างความพึงพอใจได้มากที่สุด และให้น้ำหนักความสำคัญต่อความพึงพอใจโดยรวมถึงประมาณ 20 เปอร์เซนต์ “จากการฟื้นตัวของตลาด มีรถยนต์รุ่นใหม่และเทคโนโลยีใหม่พากันเปิดตัว โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น และรถยนต์ขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก” โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการอาวุโสของ เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิค ประจำประเทศไทย กล่าว “อย่างไรก็ตาม รูปลักษณ์การออกแบบรถยนต์ และประเด็นปัญหาการใช้งานได้จริง ๆ ของรถยนต์ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อรถใหม่ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ความมีประสิทธิภาพ ทัศนวิสัยในการขับขี่และความใช้ง่ายใช้สะดวกของอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อประสบการณ์การขับขี่” ผลการศึกษารุ่นรถในแต่ละส่วนตลาดรถยนต์ ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น นิสสัน ทีด้า (892) ครองอันดับสูงสุด ตามมาด้วย ฮอนด้า ซิตี้ (881 คะแนน) และ เชฟโรเล็ต อาวีโอ (870 คะแนน) ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ฮอนด้า ซีวิค และมาสด้า 3 ต่างครองตำแหน่งสูงสุด ด้วยคะแนนเสมอกัน (ค่ายละ 888 คะแนน) และ เชฟโรเล็ต ออฟตร้า (865 คะแนน) ตามมาเป็นอันดับสาม ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมียม โตโยต้าแคมรี่ ไฮบริด ซึ่งเป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกที่ผลิตและออกจำหน่ายในประเทศไทย ครองอันดับสูงสุดด้วยคะแนน 905 ตามติดมาด้วย ฮอนด้า แอคคอร์ด (904 คะแนน) และนิสสัน เทียน่า (903 คะแนน) ในกลุ่มรถยนต์อนกประสงค์กึ่งสปอร์ต อีซูซุ มิว-7 (918 คะแนน) ครองอันดับที่หนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่สอง และเชฟโรเล็ต แค็บติวา (908 คะแนน) ครองอันดับสอง ขณะที่ฮอนด้า ซีอาร์-วี (892 คะแนน) ครองอันดับสาม ในส่วนของรถกระบะมีแค็บ อีซูซุ ดี-แม็กซ์ ไฮแลนเดอร์ (910 คะแนน) ครองตำแหน่งสูงสุด ตามติดมาด้วยโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ (909 คะแนน) และนิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา (896 คะแนน) ครองอันดับสาม ในส่วนของรถปิคอัพ 4 ประตู มิตซูบิชิ ไทรตัน พลัส (907 คะแนน) ครองอันดับสูงสุด ตามมาด้วยคะแนนเสมอกันระหว่าง อีซูซุ ดี-แม็กซ์ ไฮแลนเดอร์ และโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ (ค่ายละ 898 คะแนน) ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์ จากการศึกษายังพบอีกว่า 60 เปอร์เซนต์ของเจ้าของรถยนต์ซึ่งกล่าวว่า “พอใจ” หรือ “พอใจมาก” กับรูปลักษณ์ของรถยนต์ (โดยการให้คะแนน 8 คะแนนหรือมากกว่า จากช่วงคะแนน 1 ถึง 10 คะแนน) บอกว่าพวกเขาจะแนะนำรถรุ่นที่เขาซื้อ “อย่างแน่นอน” เมื่อเปรียบเทียบกับ เจ้าของรถยนต์ที่ตอบว่า “ผิดหวัง” หรือ “เฉยๆ” มีเพียง 38 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ให้คำตอบแบบเดียวกัน “รูปลักษณ์ดีไซน์ใหม่ และสมรรถนะของรถยนต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ยี่ห้อของรถยนต์เป็นที่สนใจและรู้จัก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ลูกค้าที่มีความพึงพอใจในรถยนต์จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ที่มีต่อรถยนต์ยี่ห้อนั้น ๆ ให้แก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง” เปอ็องกล่าว ดังนั้น การศึกษาปัจจัยความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ที่นับวันการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น” การศึกษาวิจัย APEAL ในประเทศไทยประจำปี 2553 จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจากเจ้าของรถยนต์ใหม่จำนวน 3,756 ราย ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ระหว่างเดือน ตุลาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 โดยทำการศึกษาจากผู้ซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวนทั้งสิ้น 61 รุ่น จากรถยนต์ 12 ยี่ห้อ การศึกษานี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม 2553
แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ