ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานของไทยและธนาคารโลกปี 2553

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2010 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 กระทรวงการคลังและธนาคารโลกได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานของไทยและธนาคารโลกประจำปี 2553 ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ โดยปลัดกระทรวงการคลังได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานต่างๆ ระหว่างหน่วยงานของไทยกับธนาคารโลกในช่วงที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารโลกในอนาคต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานได้กล่าวขอบคุณธนาคารโลกในการให้ความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการสนับสนุนส่งผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดี ซี มาร่วมประชุมระดมสมองในครั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังมีประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่องที่จะหารือในวันนี้ ได้แก่ 1) การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังได้กำหนดเป้าหมายสำคัญที่จะให้มีงบประมาณสมดุลในระยะเวลา 5 ปี ทำให้ภาครัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนของภาครัฐ (Public Private Partnership: PPP) จะช่วยลดภาระทางงบประมาณ ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยในการสนับสนุนภาคเอกชนและจะต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ กระทรวงการคลังจึงพยายามที่จะลดระยะเวลาในการดำเนินการให้เร็วขึ้น 2) การพัฒนาการเงินระดับฐานราก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและได้มีการหยิบยกขึ้นหารือในเวทีการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ที่เกียวโต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 การประชุมผู้นำ G 20 ปี 2553 เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาการเงินระดับฐานรากที่จะช่วยให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3) การกำหนดนโยบายทางด้านรายได้เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง ขอให้มุ่งเน้นเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของไทยจะต้องพิจารณาจากมุมมองต่างๆ และปรับปรุงไปทั้งระบบพร้อมๆ กัน (Holistic Approach) การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ได้มีการระดมสมอง แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศระหว่างผู้แทนหน่วยงานของไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ประกอบการกำหนดนโยบายต่างๆ ในอนาคตต่อไป โดยมีข้อสรุปดังนี้ กลุ่มที่ 1: การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในด้านกฎหมายและการวิเคราะห์ความเสี่ยงโครงการ ที่ประชุมได้หารือใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินโครงการ PPP โดยกฎ หมายที่เป็นประเด็นหลักคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งที่ประชุมเห็นควรกำหนดประเด็นที่จำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเป็นไปโดยสมบูรณ์และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ โดยคาดว่า จะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2554 2. ประโยชน์ของการดำเนินโครงการ PPP ที่จะทำให้มีการบริหารจ ัดการโครงการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของภาคเอกชน ตลอดจนทำให้มีการพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนของภาครัฐที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์หากให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐตามสัญญา โดยได้เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมระหว่างภาครัฐและเอกชน กลุ่มที่ 2 : การประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากและแนวทางการจัดตั้งสถาบันการเงินระดับฐานรากที่เหมาะสมในประเทศไทย ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง (Financial Inclusion) และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาการเงินระดับฐานรากในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญอาวุโสธนาคารโลก นอกจากนี้ ข้อสรุปยังชี้ให้เห็นว่า รูปแบบของผู้ให้บริการ Microfinance ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ และที่สำคัญจะต้องมีกรอบกฎหมายและการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับระบบ Micro finance กลุ่มที่ 3: นโยบายทางด้านรายได้เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง : แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีของไทย ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน หรือเรียกว่า Holistic Approach เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี โดยได้มีการหารือถึงแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีแต่ละประเภทภาษี และความร่วมมือทางวิชาการจากธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งนี้ ผู้แทนธนาคารโลกได้กล่าวยินดีในความร่วมมือกับหน่วยงานไทยอย่างต่อเนื่อง และยินดีจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของไทยในรูปของความร่วมมือทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น เป็นรูปธรรมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ