นักวิทย์น้อยจับตามองสิ่งแวดล้อมไทยในมุมมองของผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 8, 2010 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สสวท. นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. จะจัดการประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยโลกทั้งระบบระดับโรงเรียน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2553 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยจะ มีพิธีเปิด ในวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2553 เวลา 9.00 น. โดย ประธานกรรมการ สสวท. (รองศาสตราจารย์ ดร. ธัชชัย สุมิตร) ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงายวิจัยโลกทั้งระบบของนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในแบบโปสเตอร์ และแบบบรรยาย รวมทั้งการนำเสนอผลงานของนักเรียนจากประเทศอินเดีย ผลงานที่นำเสนอภายในงาน อาทิ หัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อมกับการเปลี่ยนสีและการผลัดใบของต้นสัก (Tectona grandis L.) ในโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร โดยโรงเรียนรุ่งอรุณ ผลกระทบ ของการเผาตอซังต่อสมบัติของดินและสิ่งมีชีวิตในดินบริเวณบ้านนา ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง โดยโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม การศึกษาผลจากการเผาตอซังข้าวที่มีต่อสมบัติของดินและสิ่งมีชีวิตในดิน ในตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยโรงเรียนภูเขียว ชนิดและความหนาแน่นของประชากรหอย กับชนิดและมวลชีวภาพในแนวหญ้าทะเลอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดย โรงเรียนวิเชียรมาตุ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดเห็ดกับสมบัติดินในป่าโคกหนองจาน บ้านห้วยเตย ตำบลเว่อ อำเภอ ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย โรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ จากการวิจัยและประเมินผลทางการศึกษาของโครงการ TIMSS, PISA และอีกหลายหน่วยงาน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและ นักเรียนไทยยังขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ดังนั้น สสวท. จึงได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ หรือ ESS (Earth System Science) ขึ้นเป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาของนักเรียน ไทยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตลอดจนกระบวนการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาให้สูงขึ้น หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ เป็นหลักสูตรที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ต่างๆ ของโลกในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งปกคลุมดินและสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ปรากฏการณ์ และแนวโน้มต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และมีผลต่อเนื่องมาถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง นักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ