นักศึกษา มธ.จิตอาสาฝ่าวิกฤติ เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday December 8, 2010 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนุนนักศึกษายุคใหม่มีจิตอาสา พานักศึกษาวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ TU 120 ลงสำรวจชุมชน “อยุธยา —ปทุมธานี” พร้อมระดมสมองหาวิธีช่วยเหลือเยียวยาหลังน้ำท่วมวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ร่องรอยของความเสียหายในหลายพื้นที่ยังหลงเหลืออยู่ให้คนไทยเข้าช่วย ... เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้พานักศึกษาในวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ TU 120 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้าง “กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมแบบมีส่วนร่วม” ให้นักศึกษาได้เห็นความเชื่อมโยงของตนเองกับสังคม และไม่นิ่งดูดายกับปัญหาที่เกิดขึ้นลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของชุมชนผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วมในพื้นที่ 4 ชุมชนของจังหวัดปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ บางโพธิ์ โพธิ์แตง สามโคก และบ้านกลาง การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการแบ่งนักศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มโดยให้แต่ละกลุ่มทำการสอบถามพูดคุยกับผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่อนามัย ครูอาจารย์ และตัวแทนชาวบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลความเดือดร้อนของชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขอนามัยของชาวชุมชน ตลอดจนถึงแนวทางในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต หลังจากการพูดคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชนโพธิ์แตงเหนือ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้องเซฟ หรือ นายภากร นราตรีภพนาถ นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ ยกตัวอย่างถึงความเสียหายและปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมว่า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ พบว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ได้แก่ นาข้าวและพืชสวนเสียหายเป็นจำนวนมาก ประมาณ 3,000 -4,000 ไร่ นอกจากนี้บ้านเรือน สถานีอนามัย และโรงเรียนยังพังเสียหาย เกิดคราบเหลืองติดผนังบ้าน ต้องซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ บางพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำ บ้านจมลงในน้ำทั้งหลัง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ทางด้านความเสียหายในด้านสุขอนามัย ชาวบ้านจำนวนมากยังป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า และมีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ต้องอดทน ต่อสู้ และดำเนินชีวิตในน้ำท่วมมากกว่าหนึ่งเดือน บางคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว ก็ยิ่งทรุดลง และมีอาการซึมเศร้า แต่ยังดีที่ชุมชนนี้ เป็นชุมชนเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งเรื่องของบริจาค หรืออาชญากรรม การลักขโมยในหมู่บ้านในช่วงน้ำท่วม น้องทราย หรือ นางสาวณัฐฐาพร พรหมแสง นักศึกษาปี 1 คณะศิลปะศาสตร์ กล่าวว่า “การลงมาที่นี่ทำให้เราได้รับรู้ปัญหาจริง มันต่างจากในทีวี หรือจากหนังสือพิมพ์มาก เพราะเราเห็นความเสียหายทั้งหมด เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน มันสะกิดใจเรา ทำให้เราย้อนมามองว่าปัญหามีอยู่รอบๆ ตัวเรา ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมเหมือนกัน แล้วเราจะช่วยแก้ไขได้อย่างไร” เช่นกันกับ น้องเม หรือ นางสาวเมธิสชา พูลสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะศิลปกรรม กล่าวว่าการเข้าเรียนในวิชาซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการของศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้นทำให้เธอรู้จักสังคมและมีจิตอาสาต้องการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น “วิชา TU 120 สอนให้เรารู้จักสังคม และช่วยเหลือสังคม จากที่เราอยู่ในธรรมศาสตร์ไม่มีน้ำท่วม อยู่อย่างสบาย แต่ห่างไปแค่ 25 กิโลเมตร ชาวบ้านเดือดร้อนมากจากน้ำท่วม มีคุณป้าถามเหมือนกันว่าเรามาสำรวจแค่นี้จะช่วยอะไรได้บ้าง เราก็มาเก็บข้อมูลก่อน ถ้ามีอะไรที่ทำได้ก็อยากจะทำ ถ้าเรื่องบริจาคของเราทำอยู่แล้ว แต่มันน่าจะไม่ใช่แค่นั้น เราน่าจะมาช่วยกันค้นหาสาเหตุที่แท้จริง แก้ที่ต้นเหตุ เตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่ว่าเกิดน้ำท่วมแล้ว มาช่วยกันบริจาคของ แก้ไขทีหลัง” สุดท้ายที่เสียงสะท้อนต่อความตั้งใจดีของนักศึกษาจากผู้นำชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม นายชูศักดิ์ กุหลาบศรี นายกอบต.โพธิ์แตง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่กลุ่มนักศึกษาเข้ามาสำรวจและตั้งใจช่วยเหลือชุมชนจากปัญหาน้ำท่วม “น้ำท่วมเป็นปัญหาประจำของที่นี้ทุกปี สำหรับการรับมือกับปัญหาในอนาคตมีแนวคิดที่จะปรับถนนให้สูงขึ้น หรืออาจทำเป็นคันดินกั้นน้ำ นอกจากนี้หากกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีความคิดดีๆ ที่จะป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมได้ ทางชุมชนก็อยากให้นำมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน เป็นอีกแนวทางที่เราจะสามารถนำไปปรับใช้ได้” การลงพื้นที่สำรวจชุมชนของนักศึกษาครั้งนี้ แม้นักศึกษาอาจจะยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้อย่างไร จะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีการไหน และจะสามารถช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือพวกเขาเริ่มเห็นภาพตัวเองว่าไม่ได้อยู่ห่างไกลจากปัญหาของสังคม และยังสามารถเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะเข้าช่วย… เพราะตระหนักว่า “เรา” เป็นส่วนหนึ่งของ “สังคม” และ “สังคม” ก็เป็นหนึ่งภาพสะท้อนของ “ตัวเรา” เมล็ดพันธุ์แห่งจิตอาสาจึงงอกงามขึ้นในใจของนักศึกษาที่จะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพื่อรับใช้สังคมต่อไป ทีมงานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล นันทพร คำยอด (นุ้ย) โทร.02-270-1350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ