พม.เปิดเวทีระดมความเห็นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ข่าวทั่วไป Thursday December 9, 2010 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิด “เวทีความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” เพื่อรับฟังสถานการณ์ความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทย และหารือ แนวทางการดำเนินงานยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และของประเทศไทย โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษแนวคิดเรื่อง ความมั่นคงของมนุษย์ ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด โดยนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานถึงการดำเนินงานด้านความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย ว่า สืบเนื่องจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้จัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๒ ภายใต้หัวข้อหลัก “ความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต” ซึ่งได้แบ่งความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทยออกเป็น ๖ มิติ ได้แก่ ๑) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ๒) ความมั่นคงทางอาหาร ๓) ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ๔) ความมั่นคงทางสุขภาพ ๕) ความมั่นคงของปัจเจกบุคคล และ ๖) ความมั่นคงทางการเมือง พร้อมทั้งได้จัดทำดัชนีความก้าวหน้าของคน ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจากรายงานระบุว่า แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการจัดการกับภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดสถิติความยากจนและการจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบอื่นๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมความขัดแย้งทางการเมือง อาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการค้ามนุษย์ เป็นต้น นางพนิตา กล่าวต่อว่า จากประเด็นดังกล่าว พม.และยูเอ็นดีพีได้จัดเวทีหารือ เรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ในระดับภูมิภาคขึ้น เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะจากท้องถิ่นเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น สงขลา และน่าน ซึ่งพบประเด็นปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสียและความปลอดภัยของอาหาร ที่เกิดจากเกษตรกรจำนวนมากใช้สารเคมีทำการเกษตร ความไม่สมดุลของการปลูกพืชพลังงานและพืชอาหาร ปัญหาการจัดการน้ำและการบุกรุกป่า การขาดการออมในวัยชราและสวัสดิการสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อความรู้สึกชินชาของสังคมกับเหตุการณ์ ความรุนแรงในภาคใต้ที่เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีความชัดเจนและจริงจังในการดำเนินงาน เร่งเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศให้สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งของระบบและโครงสร้างต่างๆ ภายในประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีของประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญต่อการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพและความได้เปรียบ ด้านอัตลักษณ์และคุณค่าของชาติ ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้แข็งแกร่งเป็นเสมือนเสาเข็มหลักในการพัฒนาประเทศ โดยการเสริมสร้างทุนสังคม ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพคนในทุกมิติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ครอบครัวมีความอบอุ่น มั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง และรวมพลังเป็นเครือข่ายในการพัฒนา ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างระบบ โครงสร้าง กลไก และกระบวนการบริหารพัฒนาประเทศให้อยู่บนหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะเจ้าภาพในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการส่งเสริมแนวความคิดและสร้างความตระหนักร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการ องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาชน ในการจัดการและเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่การดำเนินการให้มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายต่างๆ การประสานความร่วมมือในการต่อต้านความรุนแรง ในทุกรูปแบบ และกำหนดตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ใน ๑๐ มิติ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ความมั่นคงส่วนบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางสังคม สังคมวัฒนธรรม สิทธิและความเป็นธรรม การเมืองและธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด สอดคล้องกับแนวคิดของ UNDP และที่สำคัญ คือ การดำเนินโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้ ๓ ยุทธศาสตร์ คือ ๑. การพึ่งพาความเข้มแข็ง/ความมั่นคงของมนุษย์ในระดับบุคคล ๒. การพึ่งพาผู้อื่น โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบชุมชน และ ๓. การอุทิศตนเพื่อสังคม คือการสร้างความเข้มแข็ง/ความมั่นคงของมนุษย์ในระดับสังคม “การจัดเวทีความมั่นคงของมนุษย์ในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้มาร่วมหารือ เพื่อกำหนดทิศทาง และร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ในก้าวต่อไป” นายอิสสระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ