เซ็นทรัลผนึกพลัง มศว.ศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี สร้างกระแสแฟชั่นปรัชญาพอเพียง

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2007 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--เบรนเอเซีย
บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด โดย เซ็นทรัล วาย คลับ (Central Y Club) ร่วมมือกับศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มุ่งกิจกรรมซีเอสอาร์ คืนกำไรให้สังคม จัดโครงการประกวดนักออกแบบรุ่นใหม่ ปี 2550 (THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD 2007) ภายใต้คอนเซ็ปท์ Long Live The King เผยภาวะเศรษฐกิจและพิษค่าเงินบาทส่งผลต่อแฟชั่นและพัฒนาบุคลากรสิ่งทอ ทางออกพลิกวิกฤตเป็นโอกาสประยุกต์แนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาปรับใช้วงการแฟชั่นไทยปี 2007 เพื่อพัฒนาศักยภาพของยังก์ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรงสู่วงการแฟชั่น และความสามารถในการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
รองศาสตราจารย์ วรรณรัตน์ ตั้งเจริญ ประธานศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี มหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “ ปัจจุบันอุตสาหกรรมและสิ่งทอทั้งที่เป็นต้นน้ำ - กลางน้ำ - ปลายน้ำ (ปั่นด้าย - ฟอกย้อม — ทอและตกแต่ง - ตัดเย็บ) รวมทั้งจิวเวลรี่เครื่องประดับของไทย นับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงาน สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเกือบ 50% เป็นรายได้จากการส่งออก มีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมนี้นับล้านคน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นที่ยั่งยืน เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่มีชีวิตและอนาคตที่ดีด้วยรากฐานการศึกษาที่เข้มแข็งและก้าวหน้า การส่งเสริมศักยภาพของดีไซเนอร์และความสามารถเชี่ยวชาญในวิชาชีพ ในภาพรวมของประเทศเองก็สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ได้ด้วยตนเองจะช่วยให้ดีไซเนอร์เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ และสามารถสร้างรายได้ให้เข้าประเทศอีกทางด้วย ปีนี้ศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี กำหนดจัด โครงการประกวดนักออกแบบรุ่นใหม่ ปี 2550 (THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD 2007) ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 อย่างยิ่งใหญ่ เราได้รับการสนับสนุนการจัดงานจาก สรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยเซ็นทรัล วาย คลับ (Central Y Club) ภายใต้คอนเซ็ปท์ Long Live The King ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงได้นำแนวคิดมาประยุกต์ให้เข้ากับการออกแบบในด้านต่างๆ ซึ่งคนไทยคงจะตระหนักในปรัชญาพอเพียง อันเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ที่เรียบง่ายจากวิถีพุทธทางสายกลาง ซึ่งมีดุลยภาพต่อชีวิต ชุมชนสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่เราสามารถนำไปใช้กับชีวิตส่วนตัว หน้าที่ ธุรกิจการงาน การพัฒนาชุมชนสังคมและเศรษฐกิจตามความเหมาะสมได้ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐกิจ ”
คุณปิยวรรณ ลีละสมภพ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล โดย เซ็นทรัล วาย คลับ (Central Y Club) กล่าวว่า “ ตลอดระยะเวลา 60 ปี เซ็นทรัลได้อยู่เคียงคู่วิถีชีวิตของคนไทยและพัฒนาวงการแฟชั่นและค้าปลีกของประเทศไทย สินค้าแฟชั่นในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบดีไซน์และเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวไกล เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามเรายังให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริการและบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจและกลไกอันสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างด้วย เซ็นทรัลได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านแฟชั่น โดยนอกจากจะมุ่งมั่นนำเสนอสิ่งดีๆ แก่ลูกค้าทุกเพศทุกวัยแล้วเรายังคำนึงถึงการพัฒนาสังคมด้วย ในท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะหันมาสนใจพัฒนาศักยภาพดีไซเนอร์และนักการตลาดของบ้านเรา เน้นถึงการพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ของเราเองที่มีจุดขายแตกต่างจากเดิมให้มากขึ้น ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบ ผสานความคิดทางการตลาด ส่งเสริมศักยภาพของดีไซเนอร์ และเนื่องในโอกาสที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้เปิดบริการมาครบรอบ 60 ปีในปีนี้ Central Y Club ได้เตรียมแคมเปญพิเศษ โดยจัดให้มีการประกวดการออกแบบลายกราฟฟิก ลงบนเสื้อทีเชิ้ต โดย Concept คือการเฉลิมฉลอง Central 60th Anniversary ในสไตล์วัยมันส์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนสนใจเข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวดได้ สำหรับผลงานชนะเลิศ ทาง Central Y Club จะทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในวันรอบชิงชนะเลิศของงานประกวด THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD (TSFA 2007) วันที่ 20 กรกฎาคม 2550 Event Hall เซ็นทรัลชิดลม และรายได้จากการจำหน่าย จะมอบให้กับศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่น มหาวิทยาลัย ศรีนครินทวิโรจน์ ”
ไฮไลท์ของงานเปิดตัว THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD (TSFA 2007) ยังได้เปิดมุมมองในหัวข้อ “ปรัชญาพอเพียงกับแฟชั่นไทยปี 2007” ซึ่งได้รับเกียรติจากนักบริหารการตลาดเจ้าของแบรนด์ดังและหลากหลายดีไซเนอร์ไฟแรงผู้มีชื่อเสียงมาร่วมสนทนา 4 ท่านคือ คุณบุญอารักษ์ รักษาวงษ์ , คุณสิริยส เทพหัสดิน ณ อยุธยา , คุณธีระ ฉันทะสวัสดิ์ และ ม.ล.รจนาธร ณ สงขลา ดังนี้
บุญอารักษ์ รักษาวงษ์ ประธานโครงการประกวดนักออกแบบรุ่นใหม่ ปี 2550 ศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายถึงปรัชญาพอเพียงกับวงการแฟชั่นสิ่งทอว่า “ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งตัวส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เราควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ความพอเพียงตามทฤษฎี คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันตนเอง พึ่งตนเองได้ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของไทย ได้สร้างรายได้แก่ประเทศปีละกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่มาจากการเป็นผู้รับผลิตตามออร์เดอร์ ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด, การแข่งขันสูงจากจีน เวียดนาม อินโดนิเซีย รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งตัว การพัฒนาวงการแฟชั่นสิ่งทอควรก้าวไปตามปรัชญาพอเพียง โดยเน้นถึงการพึ่งพาตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ของเราเองให้มากขึ้น ส่งเสริมศักยภาพของดีไซเนอร์และนักการตลาด เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในธุรกิจ ”
สิริยส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล จก. กล่าวถึงปรัชญาพอเพียงกับการพัฒนาศักยภาพแฟชั่นของไทยว่า “ คนส่วนใหญ่มองว่าแฟชั่นเป็นสิ่งที่หวือหวา วูบวาบ ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าแฟชั่นและสิ่งทอได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนทุกเพศทุกวัย และมีแนวโน้มที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิต เช่น เสื้อผ้ากันยุงได้, เสื้อผ้านาโนขจัดแบคทีเรีย , เสื้อกีฬาที่ใส่แล้วเย็นสบายระบายเหงื่อได้ดี วงการแฟชั่นสิ่งทอในอนาคตล้วนเต็มไปด้วยศักยภาพแห่งการเติบโตและโอกาส แฟชั่นและสิ่งทอของไทยจึงควรพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ และมุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรมท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่ใช่ก้าวกระโดด เพื่อความยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในแง่ผู้บริโภคแฟชั่นก็สามารถประยุกต์ใช้หลักการพอเพียงในการประหยัด รู้จักผสมผสาน Mix and Match เสื้อผ้าเครื่องประดับให้เสริมบุคลิกภาพและใช้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น ”
ธีระ ฉันทะสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ผู้เคยได้รับรางวัลจากเวที Asian Young Designer Award ปี 1995 และ ปี 1997 ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า T-RA กล่าวถึงการประยุกต์ปรัชญาพอเพียงมาใช้กับการดีไซน์ออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าว่า “ราคาที่แพงของวัสดุไม่ได้บ่งบอกว่าเสื้อตัวนั้นจะใส่แล้วดูดีเสมอไป การออกแบบเสื้อผ้าต้องคำนึงถึงความพอเหมาะพอดี เหมาะสมกับบุคคลิกผู้สวมใส่เป็นหลัก ดีไซเนอร์ยุคนี้ควรเปิดกว้างและศึกษาติดตามให้รู้จักและก้าวทันกับสิ่งทอและวัสดุต่างๆ ตลอดจนการทำงานเป็นทีมและมีระบบ เรียนรู้ตลาดที่เปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวให้ทันผู้บริโภค โครงการ TSFA 2007 จะช่วยพัฒนาบุคลากรนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพก้าวไปสู่มาตรฐานสากลได้ และทันต่อความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ”
ม.ล.รจนาธร ณ สงขลา ดีไซเนอร์จิวเวลรี่แบรนด์ NARANDHA กล่าวถึงปรัชญาพอเพียงกับการพัฒนาวงการแฟชั่น “ การเป็นดีไซเนอร์นั้นไม่จำเป็นต้องทำตามวิถีตะวันตกเสมอไป สำคัญที่เราต้องตระหนักรู้ถึงตัวตนแห่งเรา อะไรที่เหมาะกับเรา ในท้องถิ่นเรามีวัตถุดิบอะไร เป็นโจทย์ที่ดีไซเนอร์นำมาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวของเรา ปัจจุบันมีดีไซเนอร์จากเอเซียไปโด่งดังในวงการแฟชั่นระดับโลกมากมาย เพราะเอกลักษณ์ความเป็นตัวของตัวเอง เราสามารถโดดเด่นแบบตัวตนของเราเองได้ เช่นเดียวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่และถือเป็นแบบอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืนและให้ความสุขกับวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ”
งาน THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD (TAFA) 2007 ขอเชิญชวนสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรในสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น - เครื่องแต่งกาย, สิ่งทอ , เครื่องหนัง และเครื่องประดับ ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการภายใต้คอนเซ็ปท์ Long Live The King แนวทางการตัดสินจากผลงานที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ชัดเจน ความสวยงาม ความประณีตและผสมผสานการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทเครื่องนุ่งห่ม ออกแบบเสื้อผ้าสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษสำเร็จรูปอย่างละ 1 ชุด 2.ประเภทเครื่องประดับ ออกแบบเครื่องประดับที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ 80 % วัสดุอื่นๆ 20 % ซึ่งสามารถผลิตและใส่ได้จริงจำนวน 1 เซต โดยใน 1 เซต มีอย่างน้อยสองชิ้นและมีสร้อยคอเป็นหลัก 3.ประเภทเครื่องตกแต่ง ออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นเช่น กระเป๋า หมวก รองเท้า ฯลฯ ไม่จำกัดประเภท อย่างต่ำ 3 ชิ้น ต่อ 1 คอลเล็กชั่น ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 - 4 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในสาขาการออกแบบแฟชั่น-เครื่องแต่งกาย, สิ่งทอ , เครื่องหนัง และเครื่องประดับ โดยแต่ละสถาบันสามารถส่งผลงานเป็นทีมๆ ละ 3 คน โดยจำกัดสถาบันละ 2 ทีมในแต่ละประเภทของการประกวด ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับเงินสนับสนุนทำชุดสำหรับงานประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 10,000 บาท , เงินสนับสนุนทำชุดสำหรับงานประเภทเครื่องประดับ 8,000 บาท และเงินสนับสนุนทำชุดสำหรับงานประเภทเครื่องตกแต่ง 5,000 บาท ต่อสถาบันการศึกษา 10 - 15 ผลงาน และรางวัลโล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ ส่งผลงานแบบสเก็ตซ์และหลักฐานการสมัคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พฤษภาคม 2550 ตามหัวข้อที่กำหนดให้พร้อมลงสีบนกระดาษขาวขนาด A3 จำนวนทีมละ 1 ใบ ติดลงบนฟิวเจอร์บอร์ด สีดำ และติดใบส่งผลงานที่ด้านหลังของบอร์ด พร้อมกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน ส่งผลงานแบบสเก็ตช์พร้อมใบสมัครมายังที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาแฟชั่นและอัญมณี ชั้น 8 อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 ดาวน์โหลดและรับใบสมัครฟรีได้ที่ www.fashionproject.net , www.fashionca.com ติดต่ออาจารย์บุญอารักษ์ รักษาวงษ์ , คุณหทัยพันธน์ ชูชื่น โทร.02-664-1000 , 086-327-6696 , 086-894-2266
กำหนดจัดงานรอบชิงชนะเลิศ THAILAND STUDENT FASHION PROJECT AWARD 2007 ในวันศุกร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2550 เวลา 16.00 น. ณ. อีเวนท์ฮอลล์ ชั้น 3 เซ็นทรัล ชิดลม ถนนเพลินจิต
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เบรนเอเซีย จำกัด
โทร. 02-655-3131 โทรสาร. 02-655-3124
รัตติยา : 086-973-9863 จรรยา : 081-995-9945
ประภาพรรณ ภูวเจนสถิตย์ : 081-899-3599

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ