กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้วยกระบวนการเพิ่มผลิตภาพ
(Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme -Productivity Improvement Approach: MDICP-PIA)
เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ขอเชิญวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิต สมัครเข้าร่วมโครงการที่จะช่วยให้ท่านสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นระบบ
โดยมีการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ชัดเจน
หลักการและเหตุผล
จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้การบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข่งขันทางด้านธุรกิจจากทั้งตลาดภายในและภายนอกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้คงสภาพการแข่งขันในเวทีตลาดโลก
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิตด้วยกระบวนการเพิ่มผลิตภาพ(Productivity Improvement Programme) ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิตในระยะยาว เพราะเป็นการสร้างแนวคิดให้กับผู้บริหารและพนักงานถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเพิ่มผลิตภาพในองค์กร (Productivity Awareness) และวางระบบการเพิ่มผลิตภาพให้กับองค์กรเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า(High Quality) ด้วยกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ(Low Cost) และส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลา(On time Delivery)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเพิ่มผลผลิต จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้วยกระบวนการเพิ่มผลิตภาพ ( Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme - Productivity Improvement Approach: MDICP-PIA ) ซึ่งมีรายละเอียดของการดำเนินงานดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น โดยมีการวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน
- เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิตมีระบบบริหารการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Management) อย่างเป็นระบบ และใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงองค์กรตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรในระยะยาว
- เพื่อส่งเสริมการทำ Good Practices และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิต
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคการผลิต จำนวน 25 บริษัท
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ธันวาคม 2553 — กันยายน 2554
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ
- เงินสมทบในการเข้าร่วมโครงการ 80,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว)
รายละเอียดการดำเนินงาน
ดำเนินการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำจำนวน 16 คน-วัน (Man-day) ในแผนงานหลักด้านการบริหารการเพิ่มผลผลิต และเลือกแผนงานใดแผนงานหนึ่งใน 3 แผนงาน ทั้งนี้ขึ้นกับผลการตรวจวินิจฉัยสถานประกอบการของที่ปรึกษา ดังนี้
1. ด้านระบบมาตรฐานคุณภาพ
2. ด้านระบบการบำรุงรักษาเชิงเทคนิค
3. ด้านการพัฒนาบุคลากร
1. ด้านบริหารการเพิ่มผลผลิต
- มีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น โดยการใช้เครื่องมือต่างๆทางด้าน Productivity และมีการวัดผลสำเร็จที่ชัดเจน ทั้งนี้การเลือกใช้เครื่องมือทางด้าน Productivity จะขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา ความต้องการของผู้ประกอบการเป็นหลัก และ ผลการวินิจฉัยของที่ปรึกษา
2. ด้านระบบมาตรฐานคุณภาพ
- เป็นด้านที่เหมาะสมกับบริษัทที่มีระบบมาตรฐานที่จำเป็นต่างๆแล้ว แต่ยังขาดประสิทธิผลในการดำเนินงานจริง หรือ ต้องการยกระดับมาตรฐาน โดยสามารถวางระบบมาตรฐานต่างๆได้ดังนี้
o ISO 9000 , ISO 14000 , ISO/TS 16949 , ISO 22000 , GMP , HACCP , SA 8000 และ มอก. 18001 เป็นต้น
3. ด้านระบบการบำรุงรักษาเชิงเทคนิค
- เป็นด้านที่เหมาะสมกับบริษัทที่มีเครื่องจักรเป็นหลักในการผลิต และต้องการตรวจสอบ วินิจฉัยสภาพของเครื่องจักรด้วยเครื่องมือเฉพาะด้าน เพื่อกำหนดแผนการแก้ไข ปรับปรุง ได้แก่
o การวิเคราะห์ความสั่นสะเทือนเครื่องจักรหมุน(Vibration Analysis for Rotating Machine)
o การวิเคราะห์ภาพถ่ายความร้อน (InfraRed Thermography Analysis)
o การวิเคราะห์มอเตอร์ขณะทำงาน (On-line Motor Current & Flux Analysis)
o การวางแนวเพลาเครื่องจักร (Machine Alignment — Dial Gauge/Laser)
o การจัดสมดุลการหมุน (Machine Balancing
o การวิเคราะห์ด้วยคลื่นอัตราโซนิค (Ultrasonic Analysis — Leak detection)
o การวิเคราะห์คุณภาพไฟฟ้า (Power Quality Analysis)
o การหล่อลื่น การสึกหรอ และการวิเคราะห์น้ำมัน (Lubrication , Wear & Oil Analysis)
o การบำรุงรักษาเฉพาะระบบ / อุปกรณ์ เช่น ระบบทำความเย็น , ระบบอัดอากาศ , เกียร์ , แบริ่ง,...เป็นต้น (Chiller , Air Compressor , Gears , Bearings,…)
o การวิเคราะห์ความเสียหายของเครื่องจักร (Machine Failure Analysis)
o การวางระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
4. ด้านการพัฒนาบุคคลากร
- มุ่งเน้นการพัฒนาหัวหน้างานระดับต้น — กลาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารงานประจำวัน เพื่อให้เข้าใจบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ สามารถบริหารงานประจำวัน(Daily Management) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นให้คำปรึกษาแนะนำดังนี้
o บทบาท หน้าที่ของการเป็นผู้บริหารระดับต้น
o การบริหารงานประจำวัน (Daily Management)
o การมอบหมาย และติดตามงาน
o การวิเคราะห์ และจัดทำคู่มือการสอนงาน
o การจัดทำ Skill Mapping
o การสอนงานอย่างมีประสิทธิผล (สอบสอน และ ติดตามผลการสอนงาน)