ปภ.ร่วมกับG-Net รณรงค์ลดอุบัติภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

ข่าวทั่วไป Monday April 30, 2007 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับบริษัท ไวร์เลส แอดวานซ์ ซิสเต็ม จำกัด จัดโครงการรณรงค์“ลดอุบัติภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือ” เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอุบัติภัยที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูกต้องและปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนอย่างประเมินค่ามิได้ นอกจากการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว ยังพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการ ความปลอดภัยทางถนน จึงได้ร่วมกับ บริษัท ไวร์เลส แอดวานซ์ ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ G-Net ประจำประเทศไทย จัดโครงการรณรงค์ “ลดอุบัติภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือ” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอุบัติภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์อย่างถูกต้องและปลอดภัย โครงการดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมแนะนำการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ ในระยะแรก จะจัดนำร่องในบริเวณจุดตรวจ และจุดพักรถ ตามถนนสายหลัก รวมถึงการให้ข้อมูลด้านวิชาการ และแจกสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ แม้จะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบจากการโทรแล้วขับอย่างจริงจัง แต่งานวิจัยหลายชิ้นของต่างประเทศระบุตรงกันว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าการขับขี่ในช่วงเวลาปกติ เนื่องจากสมาธิจะไม่อยู่ที่การควบคุมรถ แต่กลับไปอยู่ที่บทสนทนา ส่งผลให้ปฏิกิริยาในการสั่งการและตอบสนองทางสมองช้ากว่าปกติถึง 0.5 วินาที อาจดูเป็นเวลาอันน้อยนิด แต่อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ในเพียงเสี้ยววินาที ดังนั้น หากต้องใช้โทรศัพท์ขณะที่ขับรถควรจอดรถข้างทาง หรือบริเวณที่ปลอดภัยก่อน หากเป็นเส้นทางเปลี่ยว ก็ควรให้ถึงจุดหมายก่อนแล้วค่อยใช้โทรศัพท์ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กับ G-Net ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมาตื่นตัว และตระหนักถึงปัญหาอุบัติภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการสร้างกระแส และจุดประกายให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ที่ถูกต้องและปลอดภัย อันจะช่วยลดความสูญเสียและสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ