กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--iTAP iTAP หนุน “ติดอาวุธผู้บริหาร อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย” เปิดหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการระดับบริหารครบวงจรทั้งผลิต ออกแบบสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงตลาด คาดผลสำเร็จช่วยผู้ประกอบการนำความรู้สู่ “การใช้งานจริง” ปรับวิสัยทัศน์เพื่อแข่งขันสู้ตลาดโลก ปัจจุบันการแข่งขันของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ จากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก มีระดับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนกิจกรรมในแต่ละด้านขององค์กร ทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ระบบการตลาด และด้านการออกแบบ ตลอดจนปรับเปลี่ยนแนวคิดการผลิตที่ในอดีตเป็นการผลิตในแนวทางรับจ้างผลิต (Own Equipment Manufacturing หรือ OEM) ปรับเปลี่ยนสู่การผลิตภายใต้รูปแบบของตนเอง(Own Design Manufacturing หรือ ODM) และต่อยอดจนสามารถผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเองได้ (Own Brand Manufacturing หรือ OBM) ช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% แต่ปัจจุบันการเติบโตลดลงเนื่องจากประสบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก รวมทั้งต้นทุนการผลิต ค่าวัตถุดิบและแรงงาน ผู้บริหารในวงการเฟอร์นิเจอร์จึงเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อปรับตัวเองอีกครั้งหนึ่งให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลก รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)หนึ่งในโครงการภายใต้ศูนย์ TMC นั้นได้มีหลักสูตรที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการระดับบริหารในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในชื่อหลักสูตร “ติดอาวุธผู้บริหาร: อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย”โดยได้มุ่งเน้นเพื่อปรับวิสัยทัศน์ 3 ด้านได้แก่ ด้านการผลิต ด้านการออกแบบสินค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงด้านการตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้กับผู้บริหารองค์กรสามารถปรับวิสัยทัศน์ทางด้านการผลิตและให้ความรู้กับผู้บริหารองค์กรสามารถปรับวิสัยทัศน์ทางด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้เพื่อปรับวิสัยทัศน์ทางด้านการตลาดสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ด้วยกันเอง และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิตและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ ของ สวทช.ได้ รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ยังจัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้เดินทางไปศึกษางานยังประเทศผู้นำทางการค้าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อกลับมาศึกษาถึงแนวทางพัฒนาธุรกิจของตนเอง มีการเสาะหาเทคโนโลยีและธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมไม้ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และยังได้มีโอกาสในการเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ระดับนานาชาติ เช่น งาน INTERNAITONAL FURNITURE FAIR DONGGUAN CHINA งาน International Furniture Fair Guangzhou China รวมทั้งได้มีการเข้าชมบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำอีกด้วย นอกจากนี้หลักสูตรในการอบรมยังมีเรื่องการปรับวิสัยทัศน์ด้านการผลิตสำหรับผู้บริหารอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้มาให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น ในเรื่องของภาพรวมการใช้ไม้และคุณสมบัติไม้ประกอบ การป้องกันรักษาเนื้อไม้ การอบไม้ การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์งานไม้ หรือในการนำวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้มาใช้ รวมทั้งในด้านการวางแผนการผลิต เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้มีการปรับวิสัยทัศน์ทางด้านการออกแบบสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้าร่วมให้ความรู้ในด้านการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์อย่างครบวงจร เช่น ในเรื่องของการจัดการกระบวนการออกแบบ (Design Process Management) และมีการอบรมด้านการปรับวิสัยทัศน์ทางด้านการตลาดสำหรับผู้บริหารในด้านต่างๆ อาทิ แนวทางการสร้างแบรนด์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้บริโภค การออกแบบ ตลาดและการผลิต หรือการพัฒนารูปแบบและปรับเทคนิคการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมทั้งมีบางบริษัทที่เข้าร่วมอบรมยังได้มีผู้เชี่ยวชาญชาวมาเลเซีย Dr.Jegatheswaran Ratnasingam UNIVERSITI PUTRA MALAYSIA เข้ามาให้คำแนะนำปรึกษาด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น ด้วยความสำเร็จครั้งนี้ได้มีผู้ประกอบการในระดับบริหารของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ร่วมเข้ารับประกาศนียบัตรจาก iTAP จำนวนถึง 29 คนจาก 29 บริษัทชั้นนำ และคาดว่าน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจร ทั้งต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย และต่อยอดไปสู่หลักสูตรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นต่อไป รศ.ดร.สมชาย กล่าวในที่สุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 104, 114 ,115 สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net