สช.เตรียมยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2007 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สช.
จากการที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 มีการกำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) ต้องจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพเพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพนั้น
ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของ คสช.ได้เตรียมจัดกระบวนการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้คนทุกฝ่ายในสังคม และมีการทำงานทางวิชาการควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะได้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพในปี 2551 ที่จะสอดคล้อง และรองรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมีการระบุเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไว้ในหลายมาตรามากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ด้วย
“ขณะนี้กำลังเริ่มมีการศึกษาว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ควรประกอบด้วยสาระสำคัญอะไรบ้าง เพราะยังไม่เคยมีการจัดทำกันมาก่อน นี่เป็นการกำหนดให้ทำเป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และกำลังมีการวางแผนว่าควรจัดกระบวนการยกร่างอย่างไรให้สังคมทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมมากที่สุดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยทั้งหมดนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำธรรมนูญสุขภาพในราวเดือนพฤศจิกายน 2550 ก่อนเสนอให้ คสช.เห็นชอบ จากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการยกร่างฯ กันอย่างเป็นระบบต่อไป” น.พ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและร่วมเรียนรู้กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพกล่าว
อนึ่งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 47 ระบุว่า การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ผ่านประชามติไปแล้วเมื่อ 19 สิงหาคม 2550 และกำลังจะประกาศใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้ามีการระบุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสุขภาพไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 80 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน มาตรา 51 ผู้ยากไร้รักษาฟรี การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ มาตรา 55 ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้เพียงพอมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ มาตรา 67 (2) และ 290 (3) บุคคลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมประเมินผลกระทบสุขภาพและพิจารณาโครงการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ