กบข.กระตุ้นสมาชิกออมเพิ่ม/ออมต่อ

ข่าวทั่วไป Thursday December 30, 2010 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--กบข. กบข. หวั่นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ประชากรอายุขัยเฉลี่ยสูงถึงกว่า 80 ปี ครอบครัวมีขนาดเล็กลง สภาพสังคมที่เน้นการบริโภค นำเงินอนาคตมาใช้จ่ายจะกดดันให้สมาชิกกบข. มีเงินไม่พอใช้ต่อเนื่องหลังเกษียณ นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่าปัจจุบันนี้ สังคมทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าเดิม สำหรับประเทศไทยประเมินกันว่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ปี ขณะที่โครงสร้างครอบครัวมีขนาดเล็กลง ปริมาณคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่สังคมแรงงานเพื่อเกิดเป็นภาษีรายได้สู่รัฐสำหรับจัดสวัสดิการสังคมจะลดลงเป็นลำดับ ขณะที่สังคมปัจจุบันเน้นบริโภคนิยม ผู้คนคุ้นเคยกับการนำเงินอนาคตมาใช้สร้างความสุขและดูแลตนเองในปัจจุบัน “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้ เริ่มส่งผลเห็นชัดแล้วในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวดเร็วอย่างญี่ปุ่น หลายๆ โรงเรียนในญี่ปุ่นต้องปิดตัวลงเพราะปริมาณเด็กเกิดใหม่มีน้อยเกินไป โรงเรียนบางแห่งต้องปรับเป็นสถานดูแลผู้สูงวัย (Retirement Community) เพราะจำนวนผู้สูงวัยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นถือว่าโชคดีเพราะสังคมที่นั่นเป็นสังคมชนชั้นกลาง คนรวยมีน้อย คนจนก็มีน้อย ส่วนมากมีเงินพอใช้จนบั้นปลายชีวิต” นางสาวโสภาวดี กล่าว “ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าน่ากังวลเพราะคนไทยให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนน้อย ผู้ที่ออมก็อาจออมโดยวิธีฝากเงินเพื่อดอกเบี้ยซึ่งถือว่าต่ำ การออมที่เหมาะสมต้องเป็นการออมโดยให้เงินออมทำงานต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่เหมาะสม และที่สำคัญคือชนะเงินเฟ้อ สำหรับสมาชิกกบข. ที่พอใจกับผลตอบแทนเฉลี่ย 14 ปีประมาณ 7% ที่กบข.บริหารผลตอบแทนได้ ก็ควรจะออมเพิ่ม ซึ่งสามารถออมเพิ่มถึงเกณฑ์สูงสุด 15% เมื่อออมเพิ่มทุกเดือน คูณกับผลประโยชน์ที่ได้แล้ว ก็จะเป็นเงินก้อนสำหรับไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงชีวิตไม่ทำงานอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี” นางสาวโสภาวดีย้ำ นางสาวโสภาวดียังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนอกจากกบข.จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ออมเพิ่มแล้ว สมาชิกที่เกษียณ หากไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินก้อนออกไปทั้งหมดในเวลาเดียวกัน สมาชิกสามารถออมต่อ และ/หรือ ทยอยขอรับเงินออกไปใช้ตามความจำเป็น เงินก้อนที่อยู่กับกบข.ควรจะสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพราะสมาชิกเองก็มีเงินบำนาญรับต่อเนื่องทุกเดือนอยู่แล้ว สำหรับปี 2554 กบข.ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการรณรงค์การออมเพิ่ม-ออมต่อ นอกจากนี้กบข. ยังมีแผนงานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการจูงใจ (Incentive Package) ที่ให้ประโยชน์กับสมาชิกกบข.อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้สมาชิก กบข. หันมาให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น “การออมถือเป็นภารกิจร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพราะหากประชาชนเกิดการออมอย่างจริงจังก็จะทำให้สภาพสังคมโดยรวมแข็งแรง เศรษฐกิจก็จะเติบโตแข็งแรง นำความมั่นคงแท้จริงมาสู่ประเทศ” นางสาวโสภาวดีสรุป เกี่ยวกับ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข.เป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัจจุบัน กบข.มีสมาชิกกว่า 1.2 ล้านคน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 485,000 ล้านบาท ติดต่อฝ่ายสื่อสารสมาชิก ปุณยนุช จันทศร / ปิยะณัฐ สวนอภัย โทร. 02 636 1000 ต่อ 263 / 254

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ